วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2566

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี
17-19 มีนาคม นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเตรียมจัดงาน
 “โนรา ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน สู่ถิ่นตำนานครูต้นโนรา”  ที่ พัทลุง
เป็นการรื้อฟื้นประชันโนราในแนวทางโบราณให้ได้ชมกันอีกครั้ง
เรียกว่าต้องวัดกันที่ความรู้ความสามารถเฉพาะตัว และ ความเป็นทีม อย่างมาก

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2566  จะมีการจัดงาน “โนรา ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน สู่ถิ่นตำนานครูต้นโนรา” ที่วัดพระบรมธาตุเจดีย์เขียนบางแก้ว ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จัดโดย ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส สวธ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากยูเนสโกประกาศให้ “โนรา” ศิลปะท้องถิ่นใต้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อธันวาคม 2564
“โดยศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส ได้สร้างกระแสการรับรู้อย่างเข้าใจให้ผู้คนในพื้นที่ เพื่อให้คนไทยทุกคนร่วมกันส่งเสริม ผลักดันอย่างถูกทิศทางก่อนโนราจะก้าวสู่เส้นทางการเป็น “Soft Power” ขณะที่ วธ.แสวงหาความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะในปีที่ 6 ไทยต้องส่งรายงานให้ยูเนสโกได้รับรู้ถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ส่งเสริม พัฒนา สืบทอด” นายโกวิท กล่าว
โนราเดชา วาทศิลป์ โนราชาวจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นการรื้อฟื้นประชันโนราในแนวทางโบราณให้ได้ชมกันอีกครั้ง เกือบ 100 ปีแล้วที่ไม่มีใครได้ชมโนราประชันโรงในแบบดั่งเดิมกัน ที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นแนวประยุกต์ทั้งสิ้น อยากชวนคนไทยที่สนใจการแสดงศิลปวัฒนธรรมปักษ์ใต้ ได้มาร่วมชมโนราประชันโรงในแบบโบราณขนานแท้ โนรารำบนโรงดินที่ไม่ยกพื้นเวที รำบนลานดิน คนดูนั่งดูเสมอนักแสดง โรงโนราหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้โนราที่ประชัน ตอบโต้กลอนกันได้ และเห็นคู่ที่มาประชันกันแบบตรงไปตรงมา ถ้าอีกคณะหนึ่งรำเก่งกว่า คณะที่ประชันด้วยต้องรีบแก้แนวทางการประชันทันที โดยแต่เดิมนั้นจะใช้เวลาประชันกัน 1 คืน 1 วัน แต่งานโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ที่วัดเขียนบางแก้ว จัดประชันโรงแค่ 3 ชั่วโมงในรูปแบบย่อ
“ข้อดีของกิจกรรมโนราประชันโรง ทำให้โนราแต่ละคณะ รวบรวมแบบแผนความรู้ในเรื่องโนรามาเพื่อการประชันกัน ไม่ว่าจะเป็นท่ารำ การโต้กลอนสด การทำบท การเฆี่ยนพราย เหยียบลูกมะนาว รำเพลงปี่ ขอเทริด โต้พราน ต้องมีการเตรียมตัว และใช้ความรู้ความชำนาญในแบบเฉพาะตัว ไม่เช่นนั้นแล้วคนดูจะไม่ติดตาม ถ้าไม่ฝึกซ้อมจะรำประชันโรงไม่ได้เพราะแรงไม่พอ สมองไม่แล่น ตอบโต้ไม่ได้ แม้แต่ลูกคู่ นักดนตรีก็ต้องฝึกซ้อมหนัก ถ้าไม่ฝึกซ้อมเพื่อการประชันโดยเฉพาะจะเล่นไม่ได้เลย” โนราเดชา กล่าว
สนับสนุนโดย
 รายงานข่าว

โพสต์ข่าวแนะนำ

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ส่งต่อธารน้ำใจผู้มีจิตศรัทธา มอบเงินกว่า 4.7ล้านบาท สงเคราะห์ผู้ป่วยขาดแคลน ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค รวม 71 แห่ง

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ส่งต่อธารน้ำใจผู้มีจิตศรัทธา มอบเงินกว่า 4.7ล้านบาท สงเคราะห์ผู้ป่วยขาดแคลน ในเขตกรุงเทพฯ ...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ