ผบ.ตร.นั่งหัวโต๊ะประชุมเข้ม แลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง วางระบบป้องกัน - แก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ พัฒนาระบบรับส่งข้อมูล ผ่านระบบ Banking เร่ง
ช่วยเหลือผู้เสียหาย เดินหน้าปราบปรามบัญชีม้า ซิมม้า อย่างจริงจัง พร้อมประชาสัมพันธ์ประชาชนทำข้อสอบ 80 ข้อ ให้ความรู้การป้องกันภัยหลอกลวงออนไลน์ หวังสร้างภูมิคุ้มกันโจร
.
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ตร. ) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธาน พร้อมผู้แทน สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, ปปง., กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กสทช., สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน เป็นอนุกรรมการ
.
สาระสำคัญในครั้งนี้ ได้วางมาตรการตรวจสอบพฤติการณ์เหตุอันควรสงสัยที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า ธุรกรรมต้องสงสัย ซิมม้า การสื่อสารที่ใช้หลอกลวงประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ในเชิงรุก และหารือเรื่องระบบ ช่องทาง และ วิธีการ รับส่งข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการทั้งด้านการเงินและโทรคมนาคม และผู้เสียหาย
.
ที่มติประชุมได้เร่งให้ กสทช. ธนาคาร และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำระบบ กระบวนการเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นขั้นตอนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พัฒนาระบบ Banking ให้มีช่องทางในการรับแจ้งเหตุฯ เพื่อขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพในการระงับความเสียหาย ป้องกันปราบปราม และดำเนินคดีกับคนร้ายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น
.
หลังจากที่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีลดลงได้ระดับหนึ่ง ลดลงโดยเฉลี่ยจาก 790 เรื่อง/วัน ลงไปเป็น 684 เรื่อง/วัน การอายัดบัญชีจากเดิมอายัดได้ทันโดยประมาณร้อยละ 6.5 มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 15 เป็นต้น
.
แต่ทั้งนี้ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติ และประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก จึงต้องเร่งบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในทิศทางเดียวกัน ทั้งวิธีการรับแจ้งจากผู้เสียหาย การอายัด การระงับธุรกรรม การส่งต่อข้อมูล ตลอดจนการดำเนินคดีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
.
ด้านการปราบปราม ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในห้วงเดือนพฤษภาคม 2566 สามารถจับกุมผู้กระผิดได้ 3,366 คดี ผู้ต้องหา 3,262 ราย ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้า 179 คดี ผู้ต้องหา 168 ราย และความผิดเกี่ยวกับซิมม้า 40 คดี ผู้ต้องหา 48 ราย
.
และในด้านการประชาสัมพันธ์ ผบ.ตร. ได้จัดทำข้อสอบ Cyber Vaccine จำนวน 80 ข้อ กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ประชาชนทดสอบ เป็นการฉีดวัคซีนไซเบอร์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ รูปแบบกลโกงต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน
.
ผบ.ตร. เชื่อว่าหลังจากการประชุมขับเคลื่อนในวันนี้ ทุกหน่วยจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา ข้อขัดข้อง จัดวางระบบการส่งต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูล การบังคับใช้กฎหมายและการระงับธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ ได้อย่างทันท่วงที และกล่าวอีกว่า “ขอฝากประชาสัมพันธ์ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ติดต่อสายด่วนธนาคารที่ตนเป็นเจ้าของเพื่อระงับบัญชีโดยเร็ว โดยธนาคารจะออก Bank ID ผ่าน sms และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุ ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อให้ระงับความเสียหายและดำเนินคดีต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว หากประสงค์จะแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ทาง https://thaipoliceonline.com สายด่วน 1441 ปรึกษา-ขอคำแนะนำ 081 866 3000 ตลอด 24 ชั่วโมง”
#วัคซีนไซเบอร์
#สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
#Royalthaipolice
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย