ข่าวสังคม
ศธ. ชู 4 กลยุทธ์สําคัญแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน ผนึกกำลังสถาบันการเงินภาครัฐ-เอกชน จัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในภาคใต้
กระทรวงศึกษาธิการ ผนึกกำลังสถาบันการเงินชั้นนำ หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน แก้ปัญหาหนี้สินครูภาคใต้ ที่สุราษฎร์ธานี ชู 4 กลยุทธ์ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบอย่างยั่งยืน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายนิรุตติ สุทธินนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า 4 ภูมิภาค ครั้งที่ 4 ภาคใต้ ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บริหาร ศธ. สถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ-เอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับและเข้าร่วม
นายนิรุตติ สุทธินนท์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นปัญหาสําคัญที่เรื้อรังมานาน จําเป็นต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบแบบต่อเนื่องและเร่งด่วน เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ตลอดจนขวัญกําลังใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศมาเป็นเวลานาน
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลการจัดการศึกษาทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้ให้ความสําคัญและพยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดําเนินการต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2564 อาทิ จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ 558 แห่ง ทั้งยังเจรจาสถาบันการเงินเพื่อขอชะลอการฟ้องร้องลูกหนี้ครูกว่า 25,000 ราย อีกทั้งขอลดดอกเบี้ยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ จํานวน 108 แห่ง ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ประกาศลดดอกเบี้ยกว่า 70 แห่ง ตั้งแต่ 0.5 -1 % พร้อมขอให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศช่วยดําเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 12,000 ราย รวมยอดหนี้กว่า 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีการจัดอบรมวินัยทางการเงิน หลักสูตร “ครูไทย หัวใจพอเพียง” มีผู้สมัครเข้าร่วมแล้ว 118,000 คน ตลอดจนจัดทํา (ร่าง) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยนโยบายการจัดสวัสดิการภายในเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องมีเงินเดือนคงเหลือหลังจากหักยอดหนี้แล้วเกิน 30 %
ที่สำคัญ ศธ.ได้กําหนดกลยุทธ์สําคัญเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างยั่งยืน 4 กลยุทธ์ ได้แก่
1.พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลหนี้ครู (Management Information System), จัดกลุ่มลูกหนี้ครูตามสถานะและเชื่อมโยงฐานข้อมูลหนี้ครูทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกหนี้วิกฤตครูบํานาญ, กลุ่มผู้ค้ำประกันครูบํานาญ, ลูกหนี้ครูในระบบ (เงินเหลือน้อยกว่า 30%), ลูกหนี้ในระบบ (สถานะปกติ) และครูในระบบที่ไม่มีหนี้
2.บริหารจัดการแบบพุ่งเป้า (Targeted management) อาทิ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, ปรับโครงสร้างหนี้, ชะลอการฟ้องร้องดําเนินคดี, จัดหา soft loan (แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ)
3.พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อสร้างความแข็งแรงสหกรณ์ออมทรัพย์ครู (Support System) ทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน และสร้างความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วยกัน
4.สร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) โดยจัดงบประมาณการใช้เงินในหมวดหมู่ต่าง ๆ การใช้เงินต่อเงิน การลงทุน การกู้ยืม ภาษี และการบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนตัวในภาพรวม
สำหรับการจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” ที่กรุงเทพมหานคร และ 4 ภูมิภาค โดยความร่วมมือของ ศธ.และสถาบันการเงินชั้นนําของประเทศไทย รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ เพื่อให้ครูได้มีพื้นที่สําหรับเจรจาขอไกล่เกลี่ยหนี้สินตลอดจนเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งการจัดงานทุกครั้งที่ผ่านมานั้นได้รับผลตอบรับจากครูและบุคลากรทางการศึกษาและประสบความสําเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งการเข้ามาขอรับการไกล่เกลี่ยหนี้สินและการขอเข้ารับคําปรึกษาด้านการบริหารหนี้ การจัดการการเงินการลงทุน โดยมีผู้ได้รับการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมหกรรมฯ แล้วกว่า 1,000 ราย คิดเป็นยอดหนี้กว่า 1,200 ล้านบาท รวมทั้งมีผู้ได้รับคําปรึกษาการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกว่า 5,400 ราย
“สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดําเนินงานที่ ศธ.และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงยั่งยืน สามารถดํารงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูต่อยอดสร้างคุณภาพทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนไทยที่จะเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลสําคัญที่เพียบพร้อมไปด้วยศักยภาพ ทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 สามารถเป็นผู้นําในการนําพาประเทศไทยให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป”
นายสุทิน แก้วพนา กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค ซึ่งจัดไปแล้ว 3 ครั้ง เริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 1,830 คน ได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 626 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 785 ล้านบาท ต่อด้วยครั้งที่ 2 ภาคตะวันออก ที่จังหวัดสระแก้ว ระหว่างวันที่ 11 – 12 มีนาคม 2566 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 1,986 คน ได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 143 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 175 ล้านบาท และล่าสุดครั้งที่ 3 ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 17 – 18 มีนาคม 2566 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมงาน จำนวน 2,134 คน ได้รับการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 199 คน แก้ไขหนี้ได้กว่า 274 ล้านบาท
สำหรับการจัดงานภาคใต้ ครั้งที่ 4 มีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาหนี้สินได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การไกล่เกลี่ยกรณีถูกฟ้องร้องดำเนินคดี (หนี้วิกฤต / NPL), การปรับโครงสร้างหนี้, การวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงิน, การอบรมให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้สิน และนิทรรศการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ และที่สำคัญจะได้รับการผ่อนปรนและสิทธิพิเศษจากสถาบันการเงิน
โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมจัดกิจกรรม ได้แก่ 1) กระทรวงการคลัง 2) กระทรวงยุติธรรม 3) กรมส่งเสริมสหกรณ์ 4) ธนาคารแห่งประเทศไทย 5) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 6) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 7) บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด 8 ) สมาคมธนาคารไทย 9) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ 10) ธนาคารออมสิน 11) ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ 12) ธนาคารกรุงไทย 13) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 14) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา 15) กองทุนการออมแห่งชาติ และ 16) สหกรณ์ออมทรัพย์ครูในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ พังงา และจังหวัดระนอง
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม: กระทรวงศึกษาธิการ โทร. 02-628-5634-36
_____
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย