วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์ฯ พาภาคีฯ บุก ก.สาธารณสุข ขอบคุณ "หมอหนู" ไม่สนับสนุนให้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้า


ภาคีเครือข่ายในการรณรงค์เพื่อการควบคุมยาสูบ
เข้าแสดงความขอบคุณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล  ประกาศย้ำจุดยืน ย้ำ!
กระทรวงสาธารณสุขไม่สนับสนุนให้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ภาคีเครือข่ายในการรณรงค์เพื่อการควบคุมยาสูบ นำโดยสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ ภาคีเครือข่ายในการรณรงค์เพื่อการควบคุมยาสูบต่าง ๆ  เข้าพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล (หมอหนู) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงความขอบคุณที่ท่านได้ประกาศย้ำจุดยืนว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่สนับสนุนให้คนบริโภคบุหรี่ไฟฟ้า  แม้จะมีการบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ปกติก็ตาม เพราะไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ชนิดไหนก็ล้วนเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายทั้งสิ้น และการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะนั้นผิดกฎหมายแน่นอน ทั้งนี้ได้ใช้วิธีการรณรงค์เพื่อสุขภาพของประชาชนเองซึ่งผลเสียของบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีข้อมูลตามหลักวิชาการยืนยันแน่นอน

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี  เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่  กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านได้ให้ความกรุณาห่วงใยสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทย เพราะผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่าเยาวชนไทยเสพติดบุหรี่กว่า 10.7 ล้านคน และ มีแนวโน้มที่จะเกิดผู้สูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ และเยาวชนไทยที่สูบบุหรี่ พบร้อยละ 20 สูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงเจ็บป่วยโรคปอดอักเสบ ในปัจจุบันหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเดิมเปิดเสรีในการผลิต และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าระบาดอย่างหนักในเด็กนักเรียน  โดยอัตราการสูบบุหรี่ในนักเรียนชั้นมัธยมปลายพุ่งสูงถึง 27.5 % เทียบเท่ากับอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา ประมาณ 6 % เท่านั้น  ซึ่งหากเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าเสรีในประเทศไทย มีความเสี่ยงสูงที่เยาวชนไทยจะเข้าไปเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า  ซึ่งเมื่อติดแล้วยากที่จะเลิกสูบ เนื่องจากนิโคตินเลิกยากมากเท่าเฮโรอีนตามรายงานของกระทรวงสาธารณะสุขสหรัฐอเมริกา

ศ.เกียรติคุณ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า  การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถือเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาที่ป้องกันได้  ที่สำคัญที่สุดของคนไทย     โดยข้อมูลขณะนี้ พบว่ามีคนไทยที่เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร จากการบริโภคยาสูบปีละมากกว่า 5 หมื่นคน และยังมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากถึง 1 ล้านคน ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ยังสูงถึง 37.7%  ล่าสุด สหพันธ์เครือข่ายองค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติออกรายงานแสดงจุดยืนว่า  การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า  เป็นทางเลือกนโยบายที่ดีที่สุด  สำหรับประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง  เนื่องจากแม้บุหรี่ไฟฟ้า อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง  ในผู้สูบบุหรี่ธรรมดาที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่เพียงอย่างเดียว  แต่หลักฐานพบว่า  ผู้สูบบุหรี่ที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะยังสูบทั้งบุหรี่ธรรมดา และบุหรี่ไฟฟ้า แต่ปัญหาด้านลบของบุหรี่ไฟฟ้า คือทำให้เยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก  และส่วนหนึ่งพัฒนาต่อไปสูบบุหรี่ธรรมดา  ที่สำคัญประเทศรายได้ปานกลางยังไม่มีความพร้อมในการที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่ ๆ และแม้แต่บุหรี่ชนิดธรรมดา  มาตรการควบคุมก็ยังไม่พร้อมและมีปัญหามาก หากเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าจะยิ่งแย่งชิงทรัพยากรในการควบคุมยาสูบที่ไม่พออยู่แล้ว  ทำให้การควบคุมยาสูบยิ่งอ่อนแอมากขึ้น  สหพันธ์เครือข่ายองค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติได้วิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ และสรุปว่า  ในประเทศรายได้ปานกลางผลเสียจากบุหรี่ไฟฟ้ามีมากกว่าผลดี  การห้ามขายของประเทศไทย  จึงเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของสหพันธ์ฯ

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ด้วยขณะนี้สถาณการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่ จึงอยากจะขอย้ำถึงความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีผลต่อการลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเป็น COVID-19 เพราะมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า ในไอของบุหรี่ไฟฟ้า มีสารโลหะหนัก เช่น นิเกิล โครเมียม ที่มีพิษต่อปอด แคดเมียมที่มีพิษต่อไต และสารก่อมะเร็ง เช่น เบนซีน อะเซตตัลดีไฮด์ และบุหรี่ไฟฟ้ายังมีการปลดปล่อยอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 ที่แทรกซึมเข้าร่างกาย เป็นการสะสมพิษไปก่ออันตรายในอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกาย
ศ.นพ.รณชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามขาย และห้ามบริการบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นมาตรการจำกัดการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นอีกมาตรการที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 ด้วย และที่สำคัญที่พวกเรามา       ในวันนี้ก็เพื่อขอบคุณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ได้แสดงจุดยืนอันชัดเจนว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่สนับสนุนให้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้า
#สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท. 55 ปี)
#ธวัชชัยเฟื่องอนันต์รายงาน
#หนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์
#T.Newsman007Online
#เอกชัย//ทันใจนิวส์//รายงาน

โพสต์ข่าวแนะนำ

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

17 กรกฎาคม 2567  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการวิจัยแก่บุคลากร ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 - 19 กรกฎาค...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ