วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี นำทีมสื่อมวลชน ลงพื้นที่เกาะพะลวย เยี่ยมชมผลงานตามโครงการพระราโชบายด้านการพัฒนาท้องถิ่น
--------------------------------
โครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น (คบว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) นำทีมสื่อมวลชน ลงพื้นที่เกาะพะลวย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สัมผัสธรรมชาติ พร้อมแถลงข่าวเปิดตัวผลงานตามโครงการพระราโชบายด้านการพัฒนาท้องถิ่น หวังสร้างการรับรู้ ส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่ชุมชน ครอบคลุมการพัฒนาทุกมิติ ยกระดับสังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสู่ท้องถิ่น ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านช่องทางร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนเกาะพะลวย






 โดยมี ผศ.ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมให้การแถลงข่าว พร้อมด้วย ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ นพรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อาจารย์เกสสิณี ตรีพงษ์พันธ์ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว ผศ.ดร.วรรณพิชญ์ จุลกัลป์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  นางสรินณา จันทร์แจ่ม ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ชุมชนเกาะพะลวย และนายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน 2565





สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาท้องถิ่น ได้ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่เกาะพะลวย   ตามโครงการพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาท้องถิ่น โดยการชี้เป้าหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด  สุราษฎร์ธานี ให้พื้นที่เกาะพะลวย เป็นหนึ่งในพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักตามโครงการพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาท้องถิ่น  เพื่อยกระดับและพัฒนามิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม โดยการบูรณาการองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยไปพัฒนาท้องถิ่น ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาและความต้องการของประชาชน พบว่า เกาะพะลวยเป็นเกาะพลังงานสะอาด ใช้ไฟฟ้าจากระบบโซล่าเซลล์ ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก ปัญหาที่พบได้แก่ ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น ทำให้มีรายได้น้อยไม่พอรายจ่าย มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ สภาพพื้นที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ขาดเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่และพืชผักในการบริโภค ขาดความรู้ในการปฐมพยาบาลรวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน การเจ็บป่วยปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก ขาดการรวมกลุ่มอาชีพ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำเพราะขาดวัสดุอุปกรณ์และสื่อทางการศึกษา ปัญหาขยะทะเลและการส่งกลิ่นเหม็นจากเศษอาหารทะเล เป็นต้น จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยฯจึงได้วางแผนพัฒนาพื้นที่โดยนำอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ บูรณาการการดำเนินงานในพื้นที่ จนประชาชนสามารถมีรายได้ที่ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น นักเรียนมีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น โดยแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้ 





1.ประเด็นด้านเศรษฐกิจ พบว่า ได้มีการดำเนินการพัฒนามาตรฐานโฮมสเตย์ในทุกด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้เสริมจากการให้บริการนักท่องเที่ยว เช่น การรวมกลุ่มและจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะพะลวย มีการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว มัคคุเทศก์นำเที่ยว เรือนำเที่ยว มาตรฐานความปลอดภัย อาหารปลอดภัย การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในช่องทางต่าง ๆ ทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาอาหารทะเลแห้งเป็นสินค้าของฝากจากเกาะพะลวย การจัดทำบ้านปลาเพื่อเป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์ทะเล การพัฒนาการปลูกผักระบบหมุนเวียนน้ำด้วยพลังงานโซลาเซลล์  การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายข้อ เช่น ครีมนวด สครัปขัดผิว โลชั่นบำรุงผิว เป็นต้น จนทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้จากการให้บริการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างดี
2. ประเด็นด้านสังคม พบว่า ได้มีการพัฒนาการรวมกลุ่มอาชีพจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะพะลวย เช่น การทำบัญชีกลุ่ม การบริหารจัดการกลุ่ม กลุ่มเรือ กลุ่มไกด์ชุมชน  การออมของสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น
3. ประเด็นด้านการศึกษา พบว่า มีการพัฒนาระบบการให้และบริการห้องสมุดโรงเรียน การพัฒนาสื่อการสอน การจัดโครงการอ่านออกเขียนได้ เพื่อพัฒนานักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก จนทำให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
4. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ได้มีการดำเนินการจัดการขยะทั้งขยะทะเลและขยะที่เกิดจากเศษอาหารทะเลซึ่งส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และนำขยะมาผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อให้เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน ลดรายจ่ายในครัวเรือนด้วยอีกทาง
.
กว่า 4 ปี ที่ มรส.ขับเคลื่อนโครงการพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่เกาะ  พะลวย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในทุกมิติและทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ

ลงพื้นที่///รายงานข่าว.

โพสต์ข่าวแนะนำ

จิระพนธ์ เอกสิฐานนท์ (บุตรชาย)กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สื่อรัฐเจาะข่าวเด็ดได้จัดพิธีณาปณกิจ คุณพ่อตี๋ มั่นปาน ณ วัดหนองแขม จังหวัดชัยนาท

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์ จิระพนธ์ เอกสิฐานนท์ (บุตรชาย)กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สื่อรัฐเจาะข่าวเด็ดได้จัดพิธีณาปณกิจ  คุณพ่อตี๋ มั่นปา...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ