ข่าวสังคม
นักวิชาการ ทช.2 ชลบุรี ยันเหตุปลาตายเกลื่อนชายหาด ไม่เกี่ยวคราบน้ำมันในทะเล
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จังหวัดชลบุรี (ทช.2 จว.ชลบุรี) ชี้สาเหตุปลาตายเกลื่อนตามชายหาด เกิดจากแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ทำให้อ๊อกซิเจนในน้ำต่ำ ยันไม่ใช่เกิดจากคราบน้ำมันในทะเล
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (11 ก.ย.66) สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จ.ชลบุรี (ทช.2 จว.ชลบุรี) ได้มีการจัดหารือประเด็นแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) หรือปรากฏกาณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ที่เกิดขึ้นทั้งที่บริเวณชายหาดบางแสน บางพระ และพัทยา จนทำให้ปลาหลากหลายชนิดตายเกลื่อนชายหาด โดยมี นายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ชลบุรี พร้อมด้วยผู้แทนจาก กรมเจ้าท่าชลบุรี, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 ชลบุรี, ศูนย์วิจัย ทช., ศร.ชล ภาค 1 โดย นอ.พินัย จินชัย รอง ผอ.ศรชล.จว.ชบ. มอบหมายให้ น.ต.สมยศ ชูศรี จนท.ยุทธการและการข่าว ศรชล.จว.ชบ. และ นางพนิดา จันทวัฒน์ ผู้อำนวยการ ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี เข้าร่วม ณ ห้องประชุม หน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จ.ชลบุรี
โดย นายสัญชัย ชนะสงคราม นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ เผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าปลาตายจำนวนมากเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ที่ทำให้น้ำทะเลเป็นสีเขียวและมีกลิ่นรุนแรง และยังทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ ส่งผลให้ปลาขาดออกซิเจนและตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เกิดจากคราบน้ำมันในทะเล ตามที่มีข่าวในโลกโซเชียลแต่อย่างใด
" ขณะนี้ในพื้นที่บางพระ น้ำทะเลก็ยังมีสีเขียวอยู่มาก แต่ไม่พบผลกระทบแนวปะการัง และไม่พบคราบน้ำมันจากการสุ่มเก็บตัวอย่างและลงพื้นที่ รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง และจะทำเช่นนี้ไปอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว" นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการฯ กล่าว
ทั้งนี้ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่จะทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียว และมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นักท่องเที่ยวจึงไม่ควรลงเล่นน้ำ เนื่องจากบางรายอาจมีอาการคันและระคายเคืองได้ ส่วนอาหารทะเล สามารถจับและรับประทานได้ตามปกติ ขณะที่แนวทางการแก้ไขนั้น นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการให้ความเห็นว่า ควรให้ความรู้เกี่ยวกับ แพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ต่อประชาชน และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียอย่างจริงจัง
นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909535645
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย