ข่าวภูมิภาค
ผวจ.อุตรดิตถ์ แถลงขับเคลื่อน เป้าหมายร่วม จังหวัดอุตรดิตถ์
เมื่อเวลา 15.30 น.วันพุธที่ 6 กันยายน 2566 ที่ห้องประชุมโรงแรมต้นทองรีสอร์ท ต.บ้านเกาะ อ.เมืองจ.อุตรดิตถ์ จากการนำของ
นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผวจ.อุตรดิตถ์ นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รอง ผวจ. นายประเดิม เดชายนตบัญชา นายอำเภอเมือง นายศิวัช ฟูบินทร์ นายอำเภอลับแล นาย จักรพรรณ สุวรรณภักดี นายอำเภอท่าปลา นายสมศักดิ์ เกี้ยวเกิด นายอำเภอฟากท่า ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการใน จังหวัดอุตรดิตถ์ร่วมกันแถลงแนวทาง เป้าหมายร่วมจังหวัดอุตรดิตถ์” ซึ่งเป็นแนวทางนโยบายหลักในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินของจังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยบูรณาการทุกภาคส่วนในการทำงานตามหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ด้านการพัฒนาคน (PEOPLE) คือ การพัฒนาประชากร จะทำยังไงให้ประชากรมีความสุข พัฒนาให้มีความรู้ความสามารถ มีความเข้มแข้ง ทั้งกายใจ ทั้งสติปัญญา
เป้าหมายที่ 1 อุตรดิตถ์ : เมืองสุขภาวะทุกช่วงวัย ให้ความสำคัญกับสุขภาวะทุกช่วงวัย อันได้แก่ การพัฒนาเมืองให้เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยและความสำคัญของการพัฒนาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ จังหวัดอุตรดิตถ์ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และในเรื่องของสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก กลยุทธ์ 5อ7ก ขับเคลื่อนงานสุขภาวะของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยวัดจากการมีตำบลต้นแบบอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่งที่สามารถขับเคลื่อนงานตามกลยุทธ์ 5อ7ก ได้ครบถ้วนในพื้นที่
เป้าหมายที่ 2 อุตรดิตถ์ : เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล อันเป็นผลมาจากการได้รับความรู้ ทักษะ หรือประสบการณ์จากการศึกษา หรือจากกิจกรรมในวิถีชีวิตที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีมีความก้าวกระโดดมาก จะทำอะไรก็ต้องใช้เทคโนโลยี ถ้ายังไม่มีการปรับตัว ไม่มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ตลอดชีวิต การใช้วิถีชีวิตแบบเดิมก็จะลำบากในการใช้ชีวิต จึงเป็นความท้าทายว่าทำยังไงให้คนอุตรดิตถ์ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาในระบบ การลดจำนวนและปัญหาเด็กนอกระบบ การส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย และการส่งเสริมสร้างนิสัยให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เป้าหมายที่ 3 อุตรดิตถ์ : จังหวัดสะอาด การส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างถูกวิธี รวมไปถึงการนำกลับมาใช้ประโยชน์ เรื่องขยะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ก็มีความซับซ้อน โดยต้องบูรณาการกันทุกครัวเรือน การสร้างวินัยในเรื่องความสะอาด การดูแลความสะอาดตั้งแต่ในครัวเรือน จนถึงตามท้องถนน ดูบ้านเมืองดูที่ความสะอาด บ่งบอกถึงว่าคนอุตรดิตถ์เป็นคนยังไง ดูจากความสะอาด ความสะอาดส่งผลดีต่อหลายๆเรื่อง เป้าหมายที่ 4 อุตรดิตถ์ : เมืองสิ่งแวดล้อมดี ป่าสมบูรณ์ การให้ความสำคัญกับป่าไม้ในเรื่องการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน (การลดจำนวนจุด Hot Spot) และเรื่องของคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) มลพิษ บำบัดน้ำเสีย ตัวชี้วัดของเป้าหมายนี้ควบคุมยาก สาเหตุการเกิดไฟป่าในพื้นที่มีสาเหตุหลายประการ บางสาเหตุเป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่จะป้องกันได้โดยเป็นปัจจัยภายนอกและเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น สภาพอากาศ/ภัยธรรมชาติ แต่สาเหตุสำคัญ ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 39 วัน ทำให้ในปีนี้จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งเป้าหมายว่าจะควบคุมปริมาณวันที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐาน ไม่เกิน 18 วัน นอกจากนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับ การพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
เป้าหมายที่ 5 อุตรดิตถ์ : การบริหารจัดการน้ำที่ดี การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ และการกระจายน้ำให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ในจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองเกษตรมีพื้นที่ 4,920,870 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 4,788,905ไร่ หรือประมาณร้อยละ 97 ของพื้นที่จังหวัด การใช้น้ำมีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน การแล้งขาดน้ำจึงมีผลกระทบต่อผู้คนเช่นกัน โดยในปี 2566 ตั้งเป้าไว้ว่ามีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น 2,750 ไร่ และมีปริมาตรเก็บกักน้ำที่เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 1.862 ล้าน ลูกบาศก์เมตร
เป้าหมายที่ 6 อุตรดิตถ์ : เมืองผลไม้คุณภาพ เกษตรปลอดภัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2566 นี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งเป้าหมายในการเพิ่ม มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ (12 ชนิด) โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 ของปีที่ผ่านมา (13,193 ล้านบาท) หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 13,590 ล้านบาท ในเรื่องของการเกษตรปลอดภัย (Good Agriculture Practices: GAP) เป็นระบบการผลิตที่อนุญาตให้ใช้สารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ยเคมี ในกระบวนการผลิตได้แต่ต้องใช้ในปริมาณที่ถูกต้องตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์มีการถ่ายทอดความรู้เตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) ให้เกษตรกรเป็นประจำอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรรายใหม่ ผ่านการอบรมถ่ายทอดความรู้ เพิ่มขึ้นอีก 200 ราย
เป้าหมายที่ 7 อุตรดิตถ์ : เที่ยวได้ทั้งปี / 365 วัน ที่อุตรดิตถ์ การพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การสร้างการรับรู้และการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การมีกิจกรรมหรือ event ส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ ทำให้นักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นโดยการเพิ่มมูลค้ารายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัด ในปี 2566 จังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้ตั้งเป้าหมาย รายได้จากการท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นรายได้ 978.70 ล้านบาท (ปี 2565 เท่ากับ 941.06 ล้านบาท) และ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อีกร้อยละ 4 เทียบกับปีที่ผ่านมา หรือ 732,189 คน (ปี 2565 เท่ากับ 704,028 คน)
เป้าหมายที่ 8 อุตรดิตถ์ : เศรษฐกิจฐานรากเจริญเติบโต ระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถพึ่งตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้รับการยอมรับในอีกระดับหนึ่ง ให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน สร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชน ชาวอุตรดิตถ์เป็นเมืองเศรษฐกิจฐานราก เมืองเกษตรแปรรูปผลผลิต มีภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นOTOP เป็นสินค้าของพาณิชย์ ของอุตสาหกรรม จำหน่าย โดยในปีที่ผ่านมาจังหวัดอุตรดิตถ์มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP อยู่ที่ 2,314.15 ล้าน มีรายได้จากการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ 25.099 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ เพิ่มร้อยละ 15 หรือเป็นมูลค่า 28.86 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจดีในระดับเมือง
เป้าหมายที่ 9 อุตรดิตถ์ : เมืองแห่งการค้าชายแดน ศักยภาพของด่านการค้าชายแดน ทำให้สามารถ เดินทางเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวได้หลายมิติ เป็นช่องทางที่มีศักยภาพในอนาคต ประกอบกับโอกาสพลิกโฉมประเทศไปสู่ “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” ด้วยจังหวัดอุตรดิตถ์มีชายแดนติดต่อ สปป.ลาว 2 อำเภอ คือ อำเภอบ้านโคก ระยะทางยาว 145 กิโลเมตร ติดต่อแขวงไซยะบุลี 4 เมือง คือ เมืองทุ่งมีไซ เมืองปากลาย เมืองบ่อแตน และเมืองแก่นท้าว มีช่องทางการค้าขายที่สำคัญ ที่อำเภอบ้านโคก คือ ด่านมหาราช,ด่านภูดู่, ด่านห้วยต่าง และอำเภอน้ำปาด คือด่านห้วยพร้าว และมีจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ เป็นด่านชายแดนที่สำคัญที่สุดโดยในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 หรือคิดเป็น 21,518 คนมิติสันติภาพและความยุติธรรม (Peace) คือการยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมในทุกระดับ
เป้าหมายที่ 10 อุตรดิตถ์ : จังหวัดคุณธรรม การปกครองบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล ในการส่งเสริมให้เกิดชุมชน องค์กร อำเภอในระดับคุณธรรมต้นแบบ ซึ่งการจะเป็นจังหวัดคุณธรรมได้นั้น หน่วยงานราชการต้องให้ความสำคัญกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) โดยปีนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งเป้าหมายคะแนน ITA ไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับส่วนราชการ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายให้ท้าทาย ยิ่งกว่าเดิมคือ จะต้องติดอันดับ 1 ใน 10 จังหวัดของประเทศ ที่มีความโปร่งใส และทุกหน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 81 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ (ส่วนภูมิภาค) 34 หน่วย และ อปท. ทุกแห่ง รวม 80 โดยตั้งเป้าให้ผ่านประเมินเป็นองค์กรคุณธรรมต้นแบบ 73 องค์กร และ 9 อำเภอตัวชี้วัดต่อมาคือ ผลการดำเนินงานเพื่อเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ (จำนวนผลการขับเคลื่อนงานจิตอาสาพระราชทาน) เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ในปีนี้มีเป้าหมายดำเนินการให้ได้ไม่น้อยกว่า 600 ครั้ง
เป้าหมายที่ 11 อุตรดิตถ์ : การบริหารภาครัฐทันสมัย สะดวก มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ปรับปรุงการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบข้อมูลให้เป็นดิจิทัล และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การเป็นศูนย์ราชการสะดวก นำไปสู่ความพึงพอใจของผู้รับบริการ มุ่งเน้นให้เกิดระบบราชการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยในปีนี้ได้กำหนดชุดข้อมูลที่ตอบโจทย์ประเด็นการพัฒนาจังหวัด จำนวน 2 ประเด็น คือ สุขภาวะผู้สูงอายุและการบริหารจัดการขยะ นำเข้าชุดข้อมูลจังหวัด ทั้ง 2 ประเด็นการพัฒนา เข้าสู่ในระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ (GD Catalog) ตามมาตรฐานของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิตอล (สพร.)อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ “ศูนย์ราชการสะดวก” (GECC) จาก 3 ปีที่ผ่านมา จังหวัดอุตรดิตถ์มีหน่วยงานผ่านการประเมินเพียง 9 หน่วยงาน ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์กำหนดให้ทุกอำเภอเป็นจุดบริการแบบ One Stop Service โดยเปิดให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Service)
เป้าหมายที่ 12 อุตรดิตถ์ : เมืองสงบ มั่งคง ปลอดภัย มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน โดยจะเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมไปถึงการเน้นย้ำในการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับร่างการ ชีวิต เพศ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์
ลดอาชญากรรมในปี 2566 นี้ จากเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์และหัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบ ได้ร่วมกันแถลงข่าวอันเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานไปแล้ว ประกอบกับมีการลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ และหัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ ที่จะร่วมรับผิดชอบขับเคลื่อนทั้ง 12 เป้าหมายร่วม ในพื้นที่ของตน ซึ่งจะเป็นคำมั่นสัญญาต่อประชาชนว่าจะขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ครบรอบ 12 เดือนของการขับเคลื่อนงานตาม 12 เป้าหมายร่วมจังหวัดอุตรดิตถ์แล้ว มีทั้งสิ่งที่ดำเนินการบรรลุเป้าหมายแล้ว มีสิ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และมีสิ่งที่ดำเนินการแล้วไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ปรากฏถึงความตั้งใจจริงของส่วนราชการที่จะปฏิบัติงานให้กับพี่น้องประชาชน
เอนก ธรรมใจ
ปวินท์ อินกล่ำ
รายงาน/
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย.
สนับสนุนโดย