ข่าวภูมิภาค
รองนายกฯ "สมศักดิ์" สตาร์ททำงานพัฒนาชายแดนใต้ ลงติดตามงานยกระดับด่านชายแดน นราฯ -หารือพัฒนาความร่วมมือ ศก. ไทย-มาเล พร้อมมุ่งแก้จน กว่า 100,000 ครัวเรือนเป้าหมาย ปี 67
วันนี้ (19 ต.ค. 2566) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาพนังกั้นน้ำมูโนะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมหนักในปี 2565 ที่ผ่านมา ณ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พร้อมเดินทางตรวจติดตามและเยี่ยมชมการให้บริการ การบริหารจัดการและแนวทางการดำเนินการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส ให้เป็นด่านปศุสัตว์ และด่านสินค้าเกษตร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
.
นอกจากนี้ ในช่วงค่ำ รองนายกรัฐมนตรียังมีกำหนดเดินทางหารือกับประธานสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ในประเด็นแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคม ระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกับรัฐชายแดนประเทศมาเลเซียที่มีอาณาเขตติดกัน ณ โรงแรม the grand ranai hotel รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
.
สำหรับการเดินทางเยือน จชต. ในวันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพต. จะมีการนำข้อเสนอแนะทุกมิติไปดำเนินงานเป็นนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งสร้างมอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเอง ในปี 2567 ซึ่ง กพต. มีเป้าหมายแก้จน 107,756 ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ตามที่ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอพิจารณา อีกทั้งจะเร่งให้มีการดำเนินการใช้อาคารด่านศุลกากรบูเก๊ะตาอย่างประสิทธิภาพ โดยเร่งรัดการประเมินที่ดิน ผลอาสิน และสิ่งปลูกสร้าง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
.
สำหรับการประชุมหารือกับสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนนั้น รัฐบาลจะมีการจับมือร่วมกันพัฒนาระหว่างประเทศ ที่มีอาณาเขตติดต่อกันระหว่างจังหวัดและรัฐ เช่น นราธิวาสและรัฐกลันตัน โดยมีประเด็นการพัฒนา 5 ประเด็น คือ การบริหารจัดการน้ำ, การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้กับมาเลเซีย, ความร่วมมือโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาร่วมกันของประเทศไทยและมาเลเซีย, การบริหารจัดการด่านการค้าชายแดน, นอกจากนี้ยังมีการหารือร่วมกันด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม 9 ประเด็น ได้แก่ ธุรกิจอาหารแปรรูปฮาลาลและร้านค้าอาหารไทยมาเลเซีย, ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกผลไม้และปศุสัตว์, ธุรกิจยางและผลิตภัณฑ์, ธุรกิจเขตอุตสาหกรรม, ธุรกิจการค้าออนไลน์ชายแดน, ธุรกิจข้าวสุขภาพ, ธุรกิจการขนส่งเพื่อรายย่อย, ธุรกิจเชิงสุขภาพและความงาม, ความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์
.
โดยข้อเสนอข้างตน ทั้ง 2 ประเทศ เห็นควรร่วมกันจัดตั้งกลไกการพัฒนา เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็น
รูปธรรม ในระยะไม่เกิน 6 เดือนต่อจากนี้ โดยจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุม กพต. รวมทั้งกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมกันระหว่างไทย-มาเลเซีย ในส่วนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก อ.ตากใบ ขณะนี้ฝ่ายไทยรับผิดชอบการออกแบบสะพานฯ แล้วเสร็จ และได้ส่งให้มาเลเซียพิจารณาแล้วตั้งแต่
ปี 2559 แต่ฝ่ายมาเลเซียได้แจ้งมาว่า มีข้อจำกัด
ด้านงบประมาณ จึงขอชะลอโครงการออกไปก่อน และจะพิจารณาโครงการ ภายหลังเสร็จสิ้นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ โก-ลก อ.สุไหงโก-ลก และ รันเตาปันยัง แห่ง ที่2
.
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ยังมีกำหนดตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการและแนวทางการดำเนินงานพัฒนาด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ในวันที่ 20 ต.ค. พร้อมเดินทางลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ "ปูทะเล" ณ บ้านโต๊ะโสม ต.บางปู อ.ยะหริ่ง และการเพาะพันธุ์ปูดำหรือปูทะเล ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้พื้นที่ริมชายฝั่งดำเนินการเพาะเลี้ยงปูเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง แต่พบอุปสรรคหลายประการ อาทิ ต้องสั่งจองปูทะเลจากนอก
พื้นที่มาเพาะเลี้ยง ซึ่งในประเทศไทยมีเพียง 2 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวนำไปสู่การเผชิญกับปัญหาอุปสงค์ส่วนเกินจากการจอง ซึ่งมีมาจากทั่วประเทศ
อีกทั้ง การจับปูตามธรรมชาติมาปล่อยเลี้ยง ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ม.อ. ได้ดำเนินการเพาะพันธุ์ปูสำเร็จแล้ว โดยสำหรับประชาชนที่ประสงค์จะเพาะเลี้ยงลูกปูทะเล ร่วมกับ ม.อ. สามารถเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะเลี้ยง โดยใช้พื้นที่บ่อนากุ้งร้างเดิมซึ่งไม่ต้องลงทุนใหม่ หรือ ใช้พื้นที่ตามธรรมชาติ ป่าโกงกางเก่า ซึ่งจำเป็นต้องปลูกโกงกางเพิ่ม เนื่องจากสัดส่วนป่าโกงกางในปัจจุบันลดลงจาก 170,000 ไร่ เหลือประมาณ 17,000 ไร่
.
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการเมืองต้นแบบ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตรผสมผสาน ต่อยอดสร้างเมืองอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่
หนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์
สนับสนุนโดย