ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)
ศพก.คือแหล่งเรียนรู้การผลิตสินค้าเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับชุมชน และเป็นศูนย์กลางการบริการ
และแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานต่างๆ กับเกษตรกรในชุมชน
โดยดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในชุมชนในการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญของพื้นที่
ตั้งแต่การผลิต การบริหารจัดการ จนถึงการตลาด
ซึ่งมีการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
1) การพัฒนาศักยภาพของ ศพก.
ให้พร้อมที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) การให้บริการต่างๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรแก่เกษตรกรและชุมชน
3)
การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของเกษตรกรตามแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์ในพื้นที่
เน้นให้ความรู้และบริการแก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจในด้านการเกษตรจากสถานที่จริง
โดยให้เกษตรกรเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบที่ทำอาชีพการเกษตรและประสบความสำเร็จ
สามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพยิ่งขึ้น
โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม การปรับปรุงบำรุงดิน
พร้อมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ความเป็นมา
ในปี 2557
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
มีนโยบายที่ต้องการให้มีศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรในระดับชุมชน
ที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเกษตร ดูแลเกษตรกร
และช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ในพื้นที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จึงมีนโยบายให้กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริม
และพัฒนาเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกร
และวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้
จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
ในระดับชุมชนอำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ ขึ้น ภายใต้หลักคิด “เกษตรกรพัฒนาเกษตรกรด้วยกันเอง จึงจะเกิดความเข้มแข็ง และยั่งยืน” ซึ่งภาคราชการจะต้องเข้าไปร่วมดำเนินการในลักษณะการขับเคลื่อน
และสนับสนุนให้ ศพก. สามารถปฏิบัติงานได้ และมีความเข้มแข็ง รวมถึง
การประสานเชื่อมโยงภาครัฐ เอกชน และชุมชนตามแนวทางประชารัฐ
วัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนาศักยภาพของ ศพก. 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่าย
ให้มีความพร้อมในการให้บริการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ
และการตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้ง การให้บริการทางการเกษตรด้านต่างๆ
และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่
2) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน
โดยมีเกษตรกรต้นแบบเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
3) เพื่อเป็นกลไกในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหา
และพัฒนาการเกษตรในพื้นที่
เป้าหมาย/สถานที่ดำเนินการ
จำนวน 77 จังหวัด 882 อำเภอ ประกอบด้วย
1) ศูนย์หลัก ได้แก่ ศพก.
อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์
2) ศูนย์เครือข่าย ได้แก่
2.1)
ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์
2.2)
ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) อำเภอละ 2 ศูนย์ รวม 1,764 ศูนย์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1) เกษตรกรที่มาเรียนรู้ที่ ศพก.
สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
ที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน
2) เกษตรกร องค์กรเกษตรกร สามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้