บุกรุกโบราณสถานเขาแดง - เขาน้อยสงขลา บานปลาย DSI ร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ลงตรวจสอบพื้นที่ ล่าสุดประเมินความเสียหายพบเสียหายกว่า 51 ล้านบาท
วันที่ 12 เมษายน 2565
จากกรณี นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าคดีบุกรุกโบราณสถานเขาแดง-เขาน้อย อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สงขลา ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสิงหนคร พร้อมกับคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความเสียหาย
เบื้องต้นตัวแทนสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ชี้แจง ความเสียหายการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง มูลค่าความเสียหาย 2,004,000 บาท และมีแผนลดผลกระทบ 8,000,000 บาท รวมความเสียหายการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง 10,004,000 บาท
ส่วนความเสียหายการบุกรุกโบราณสถานเขาน้อย เบื้องต้นทำถนน 220 เมตร กว้าง 4 เมตร ความเสียหาย 334,000 บาท ส่วนจุดที่ขุดดินทำบ่อดินลูกรัง ความเสียหาย 24,716,000 บาท และมีแผนลดผลกระทบ 16,563,733 บาท รวมความเสียหายการบุกรุกโบราณสถานเขาน้อย 41,279,733 บาท และรวมมูลค่าความเสียหายการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง-เขาน้อย ทั้งหมด 51,617,733 บาท
ล่าสุดที่บริเวณเขาแดง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว หน.ชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพภาคที่ 4 ,ดร.พงศ์พยัคฆ์ ศรียา
ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) , นายอรุณ ชอบหวาน หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สข.8 (ห้วยลึก) , นายนิรันดร์ นุ่มนวล นายช่างเทคนิคอาวุโส กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา พร้อมด้วย ร.ต.อ.ธรรมวิทย์ แต่งภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 9 และเจ้าหน้าที่ DSI กว่า 40 คน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายและขอบเขตที่มีการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง
ทางด้าน นายอรุณ ชอบหวาน หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สข.8 (ห้วยลึก) เปิดเผยว่า หลังเมื่อวันวานนี้ (11 เม.ย.) รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคดีบุกรุกโบราณสถานเขาแดง-เขาน้อย เพื่อติดตามความคืบหน้าของคดีและหลังประชุมแล้วเสร็จ ได้มีคำสั่งให้ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) ดำเนินการตรวจสอบและแจ้งความเอาผิดเพิ่มเติมกับ นางณัฎฐ์ณรัน จันทร์สว่าง หรือ เจ๊อ้อย ภรรยาของนายเสริมศักดิ์ จันทร์สว่าง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสิงหนคร
ซึ่งในวันนี้ทางหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สข.8 (ห้วยลึก) ได้ทำหนังสือส่งกลับไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสิงหนคร ให้ตรวจสอบและยืนยันขอบเขต นส.3ก เลขที่ 3040 และ นส.3ก เลขที่ 3041 ซึ่งตามระหว่างรูปถ่ายทางอากาศที่ไม่ได้แสดงขอบเขตของที่ดินทั้ง 2 แปลง ซึ่งในด้านที่ทับซ้อนบางส่วนพื้นที่ที่มีการลักลอบขุดดินบริเวณจุดที่ 4 บ่อดินหลังป้อมปืนหมายเลข 9 ซึ่งทางสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสิงหนคร ยืนยันเอกสารสิทธิ์ไม่ชัดเจนในพื้นที่ทับซ้อนจุดที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเข้าแจ้งความเอาผิดเพิ่มเติมในวันที่ 18 เม.ย.
ทางด้าน ร.ต.อ.ธรรมวิทย์ แต่งภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 9 เปิดเผยว่า โดยประเด็นที่ DSI ให้ความสนใจหลังจากลงพื้นที่คือบริเวณตำบลหัวเขา ที่พบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการขุดหน้าดินขายมายาวนานจนปัจจุบันกลายเป็นจุดที่มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่และชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า สระมรกต ซึ่งมีการเปิดขายน้ำดิบ โดยเอาน้ำในแอ่งดังกล่าวขายให้กับผู้ที่สนใจชื้อไปใช้จนถึงปัจจุบัน
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีการใช้พื้นที่ผิดไปจากการขอใช้พื้นที่จากกรมศิลปากร โดยผู้ครอบครองพื้นที่อ้างว่า มีเอกสารสิทธิ์และขอใช้พื้นที่จากกรมศิลปากรเพื่อทำรีสอร์ตและปลูกต้นไม้ แต่สภาพพื้นที่ที่ปรากฎพบมีการขุดดินออกไปจากพื้นที่เดิม จนกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่มีความลึกและกว้าง หลังจากนี้จะทำการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
หลังจากที่มีข่าววานนี้(11 เม.ย.) ว่าเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ จะมีการเดินทางเข้าแจ้งความเพิ่มเติมกับ นางณัฎฐ์ณรัน จันทร์สว่าง หรือ เจ๊อ้อย นั้นยังต้องชะลอไว้ก่อนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ข้อมูลว่าเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ยังพบมีการทับซ้อนกันจึงขอให้เวลากับเจ้าหน้าที่ที่ดินในการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งถึงจะดำเนินการเข้าแจ้งความดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายได้
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้สำรวจรอบๆเขาแดงพบซุ้มประตูบ่อเก๋ง หรือ บ่อเก๋ง (BorGeng Pavilion) ตั้งอยู่ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยบ่อเก๋งแห่งนี้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันสำคัญของจังหวัดสงขลา กล่าวได้ว่าเป็นเมืองสงขลาแห่งที่สองนับแต่อดีตกาล ซึ่งเมืองสงขลาแห่งแรก เริ่มแรกเดิมทีเชื่อกันว่าอยู่ฝั่งหัวเขาแดง ในยุคนั้นก็มีความรุ่งเรืองด้านการค้าขาย มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ และมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2223 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้นำกองทัพทั้งทางบกและทางทะเลเข้าตีเมืองสงขลาจนสำเร็จ ทำให้เกิดการย้ายเมืองสงขลามาอยู่ฝั่งแหลมสน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากฝั่งหัวเขาแดง เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณฝั่งแหลมสนนี้ เป็นพื้นที่เชิงเนินเขาจึงทำให้ยากต่อการหาแหล่งน้ำจืดมาบริโภค และบริเวณบ่อเก๋งนี้เองที่มีบ่อน้ำจืดอยู่ ชาวบ้านจึงมาตักน้ำไปใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็ได้มีการย้ายเมืองสงขลามายังแห่งที่สาม นั่นคือ เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ที่เป็นเมืองสงขลามาตราบจนทุกวันนี้
ซัมซูดิน เจ๊ะแดร์ รองหัวหน้าศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์จังหวัดสงขลา
สนับสนุนโดย