วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2566

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

อยุธยา - จังหวัดอยุธยาฯ จัดพิธีบวงสรวง "วันมวยไทยนายขนมต้ม” ครั้งที่ 19 / 2566  ณ อนุสาวรีย์นายขนมต้ม สนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          วันนี้ ( 17 มีนาคม 2566 ) เวลา 09.00   ณ อนุสาวรีย์นายขนมต้ม สนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์นายขนมต้ม สนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี พระธรรมรัตนมงคล เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางสมทรง  พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี

          สำหรับ นายขนมต้มมีชื่อเสียงในเชิงมวยเป็นที่เลื่องลือ โดยมีเหตุการณ์ที่นายขนมต้มชกชนะนักมวยพม่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317  นายขนมต้ม เกิดวันอังคาร เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ. 2293 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา   ที่บ้านกุ่ม (ปัจจุบันคือ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) บิดาชื่อนายเกิด มารดาชื่อนางอี่  ตามประวัติระบุว่านายขนมต้มมีพี่มีสาวที่ชื่อเอื้อยแต่ว่าเสียชีวิตเมื่อยังเด็กเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ ต้องมาอาศัยอยู่วัดเพราะพ่อแม่ถูกพม่าฆ่าจนเสียชีวิตทั้งคู่ เมื่อเริ่มแตกหนุ่มได้เริ่มฝึกวิชามวยไทย จนในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่า จึงตัวนายขนมต้มเองถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่านายขนมต้มได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงศรีอยุธยาและชาติไทย โดยอาศัยความสามารถในเชิงหมัดมวย ดังพงศาวดารบันทึกข้อความตอนหนึ่งว่า“เมื่อพระเจ้ามังระโปรดให้ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งเป็นการใหญ่นั้น ครั้นงานสำเร็จลงในปี พ.ศ. 2317 พอถึงวันฤกษ์งามยามดี คือวันที่ 17 มีนาคม จึงโปรดให้ทำพิธียกฉัตรใหญ่ขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ แล้วได้ทรงเปิดงานมหกรรมฉลองอย่างมโหฬาร ขุนนางพม่ากราบทูลว่า "นักมวยไทยมีฝีมือดียิ่งนัก" พระเจ้ามังระจึงตรัสสั่งให้เอาตัวนายขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามาถวาย พระเจ้ามังระได้ให้จัดมวยพม่าเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้ม โดยจัดให้ชกต่อหน้าพระที่นั่ง ปรากฏว่านายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็ชนะถึงเก้าคนสิบคน พระเจ้ามังระทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสริญนายขนมต้มว่า “คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”หลังจากนายขนมต้มได้เอาชนะนักมวยพม่าแล้ว พระเจ้ามังระได้ปูนบำเหน็จแก่นายขนมต้มโดยแต่งตั้งเป็นข้ารับใช้ในกรุงอังวะแต่นายขนมต้มกลับปฏิเสธและขอให้พระเจ้ามังระปลดปล่อยตนและเชลยคนไทยทั้งหมดให้เป็นอิสระเพื่อกลับบ้านเกิด พระเจ้ามังระก็ยอมทำตามความประสงค์ ในที่สุดนายขนมต้มและเหล่าเชลยคนไทยก็ได้รับอิสรภาพและกลับไปยังบ้านเกิดก็คือแผ่นดินไทยที่มีกรุงธนบุรีเป็นราชธานีโดยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนามว่า ตากสินมหาราช นายขนมต้มก็ได้อาศัยอยู่บ้านเกิดอย่างสงบแต่ไม่ทราบว่าเสียชีวิตไปเมื่อใดได้เคยมีการจัดให้วันที่ 17 มีนาคม เป็นวันมวยไทย เพื่อเป็นเกียรติประวัติต่อนักมวยไทย นอกจากนี้ชาวจังหวัด พระนครศรีอยุธยาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจและให้ลูกหลานไทยยึดถือเป็นแบบอย่างสืบไปอีกด้วย

         ทั้งนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำหนดจัดงาน "วันมวยไทยนายขนมต้ม ครั้งที่ 19 ประจำปี 2566" ในวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2566 เวลา  08.00-24.00 น. ณ อนุสาวรีย์นายขนมต้ม สนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เดชา  อุ่นขาว  รายงานข่าวจากอยุธยา
สนับสนุนโดย
 รายงานข่าว

โพสต์ข่าวแนะนำ

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาสในโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี ณ ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตร...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ