วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

ข่าวประชาสัมพันธ์
นายกสมาพันธ์ HEC เปิด 3 จุดเปลี่ยน ‘ธุรกิจเนอร์ซิ่งโฮม’ คาดตัวเลขตลาดทะยานถึงแสนล้านบาทต่อปี!
เมื่อวันที่ 18 กันยายน นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) กล่าวในการเสวนา “จุดเปลี่ยนการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มธุรกิจเนอร์ซิ่งโฮม” ภายในงานประชุมสมาชิกสมาพันธ์ HEC ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า ตนในฐานะนายกสมาคมสมาพันธ์ฯ ให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านสุขภาพ เพราะเป็นธุรกิจสำคัญของประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ธุรกิจด้านสุขภาพโดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เนื่องจาก ปัจจุบันสังคมโลกมีแนวโน้มประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น แต่ร่างกายยังแข็งแรงสามารถทำงานได้ ทำให้หลายอาชีพขยายอายุการทำงานให้มากขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นไปคู่กันด้วย จึงเกิดเป็นตลาดสินค้าสำหรับผู้สูงวัยและอีกตลาดที่เติบโตไม่แพ้กันอย่างอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ตนเชื่อว่าในอีก 5-10 ปีเทรนด์นี้จะมาแรงขึ้น

“ทางสมาคมฯ ได้ประเมินตัวเลขธุรกิจสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุกว่า 2 พันแห่งทั่วประเทศ ที่ไม่รวมสถานพยาบาลและโรงพยาบาล มูลค่าสูงถึง 8-9 หมื่นล้านบาทต่อปี เติบโตปีละ 10% ตนมั่นใจว่าในทศวรรษหน้าธุรกิจนี้จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วยธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้านเพื่อผู้สูงอายุ และที่น่าสนใจคือธุรกิจนำเที่ยวเพื่อผู้สูงอายุ ที่เราเรียกกันว่าทัวร์หอยทาก ก็จะมาแรงไม่แพ้กัน” นพ.ฆนัท กล่าว

นพ.ฆนัท กล่าวว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปรับตัวของธุรกิจบริการผู้สูงอายุรวมถึงธุรกิจบริการสุขภาพ คือ 1.ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกและเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ เพราะในอนาคตจะมีกฎหรือระเบียบต่างๆ เข้ามาควบคุมกำกับเพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการมีความปลอดภัยมากที่สุด 2.การพัฒนาการทำงานเป็นลักษณะของการเครือข่าย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและจะต้องพัฒนาให้ดำเนินการลักษณะซัพพลายเชนเพื่อให้เกิดการลดการลดต้นทุนให้มากที่สุด และ 3.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่กับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของไทย เน้นเทคโนโลยีควบคู่กับ Human touch เพื่อการบริการผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้าน นายวราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องมือมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการระบาดโควิด-19 ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่ขยายตัวขึ้น ทำให้ตลาดกว้างขึ้น มีนวัตกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2570 มูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์จะเติบโตถึงแสนล้านบาท ซึ่งแนวโน้มก็จะเกี่ยวข้องกับเครื่องมือดูแลผู้สูงอายุหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เครื่องมือและอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุถือเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 อย่างเช่น อุปกรณ์ช่วยพยุง เครื่องช่วยฟัง เตียงปรับองศา ที่นอนลม ฉะนั้น อย.จะต้องเข้าไปกำกับดูแลตามมาตรฐานความปลอดภัยต่อการใช้งาน นอกจากนั้น ในอนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงช่วยแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเข้าสู่การกำกับภายใต้ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ ดังนั้น บุคลากรที่อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ จะต้องเลือกใช้เครื่องที่มีมาตรฐานและมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน ซึ่งการสร้างความปลอดภัยนี้เป็นข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจในปัจจุบันด้วย
“สำหรับประเทศไทยมีบริการทางการแพทย์ไม่แพ้ที่ใดในโลก ขณะที่ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สำคัญคือต้องคุมมาตรฐานให้เป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ สร้างความสมดุลในการเข้าถึงบริการทั้งผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่เป็นนักท่องเที่ยว รัฐบาลจะต้องเข้ามาควบคุมและจัดการเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้การเติบโตนี้เข้าถึงได้เฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้สูง คนมีรายได้ไม่สูงก็จะเข้าถึงลำบาก” นายวราวุธ กล่าว

ขณะที่ ดร.อำนาจ ประสิทธิ์ดำรง ผู้บริหาร The Senizens Wellness กล่าวว่า เดิมทีตนทำธุรกิจ รพ.ผู้สูงอายุ ก่อนที่จะมาเป็นจุดเริ่มต้นของเนอสซิ่งโฮม ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 6 สาขาทั่วกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็น กทม. เป็นสังคมเดี่ยวทำให้มีความต้องการมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็จะมีการกระจายไปในต่างจังหวัดด้วย โดยทั้ง 6 สาขามีสมาชิกรวมทุกกลุ่มอายุมากกว่า 500 เตียง มีทั้งสมาชิกรายเดือนและรายปี ภายใต้แนวคิดว่า ให้เหมือนอยู่ในสวนสนุก ทางเนอสซิ่งโฮมจะจัดกิจกรรมทุกสัปดาห์แล้วเชิญลูกหลานมาพบปะผู้สูงอายุ ทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนั้น ความพร้อมของเราคือ มีบุคลากรสหวิชาชีพรองรับการดูแลสมาชิกมากกว่า 400 คน อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีแพทย์คอยดูแลผู้สูงอายุ แต่นี่เป็นจุดเด่นของเรา ที่มีแพทย์เข้ามาตรวจสุขภาพสมาชิกรายที่จำเป็น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เนื่องจากสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการกับเรา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแล ฟื้นฟูร่างกายเป็นพิเศษที่ครอบครัวหรือลูกหลานมีความกังวลจึงต้องการให้มีคนคอยดูแลใกล้ชิด เช่น การทำหัตถการชั้นสูง การสวนยา กายภาพบำบัด อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของเรา คือการดูแลเพื่อให้ผู้สูงอายุกลับบ้านได้ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้สูงอายุที่มาพักกับเราราว 3 เดือน ประมาณ 70-75% ก็จะสามารถกลับบ้านได้ ทั้งนี้เราก็ได้มองธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long-term care) ที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบเกี่ยวกับของประกันส่วนบุคคล เพื่อรองรับสังคมในปัจจุบันที่หลายคนเลือกที่จะไม่แต่งงาน หรือไม่มีลูก เพื่อให้เกิดการออมไว้ใช้ในอนาคตได้
____

#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย
 รายงานข่าว

โพสต์ข่าวแนะนำ

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

17 กรกฎาคม 2567  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการวิจัยแก่บุคลากร ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 - 19 กรกฎาค...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ