ข่าวภูมิภาค
ลพบุรีจัดประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2566 "ชูดอกทานตะวันอัตลักษณ์ของจังหวัดทำกระทงสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่บริเวณสระน้ำกรมรบพิเศษที่ ๓ รักษาพระองค์ ตำบลเขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
พลตรี ชาคริต อุจะรัตน ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม ประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2566 โดยมี นางสายใจ เลิศวิริยะประภา นายกเทศมนตรีเมืองเขาสามยอด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาเทศบาล ผู้นำชุมชน และประชาชนร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงกันอย่างหนาแน่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ให้คงอยู่สืบไปรวมถึงเป็นการส่งเสริม ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของประเพณีลอยกระทง อันเป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย เป็นการส่งเสริม การท่องเที่ยวภายในท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ในพื้นที่ตำบลเขาสามยอด ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย กิจกรรมการแข่งเรือหรรษา กิจกรรม การประดิษฐ์กระทง กิจกรรมการประกวดกระทง กิจกรรมรำวงย้อนยุค กิจกรรมงานวัด และงานมหกรรมอาหาร
ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 กล่าวว่า ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะกระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามความเชื่อของคนไทย ที่ต้องเกี่ยวข้องกับน้ำเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันและเชื่อกันว่า การลอยกระทงนี้ จะสามารถบูชารอยพระพุทธบาท ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ด้วยซึ่งประเพณีลอยกระทงนี้ คนไทยได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริม ให้ประชาชน เห็นความสำคัญของประเพณีลอยกระทง และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นอีกด้วย
ทางด้าน นางสายใจ เลิศวิริยะประภา นายกเทศมนตรีเมืองเขาสามยอด กล่าวว่า ทางเทศบาลเมืองเขาสามยอด ต้องการจะผลักดันให้ประเพณีลอยกระทงเป็น Softpowerของเทศบาลเมืองเขาสามยอด ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง จึงได้ นำดอกทานตะวัน ซึ่งในช่วงนี้มีเกษตรกรปลูกกันเป็นจำนวนมากทั้งในพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี และอำเภออื่นๆในจังหวัดลพบุรีเป็นสร้างเอกลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี ให้โดดเด่น โดยนำดอกทานตะวันสดมาเป็นกระทง จำหน่ายในราคาดอกละ 30 บาท ซึ่งการลอยกระทงด้วยดอกทานตะวันจะไม่ทำให้เกิดลดมลพิษทางน้ำ กลีบดอกและเกสรของดอกทานตะวันเป็นอาหารปลาได้เป็นอย่างดีและสามารถย่อยสลายได้ง่าย ที่สำคัญได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกต้นทานตะวันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในการจำหน่ายดอกทานตะวันสดอีกด้วย
สนอง แท่นสูงเนิน
ผอ.ศูนย์ข่าวฯ ประจำจังหวัดลพบุรี รายงาน
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย