ข่าวประชาสัมพันธ์
กสม. มอบรางวัลบุคคล-องค์กรที่ทำผลงานเด่นด้านสิทธิฯ พร้อมชูปฏิญญาสากล เรื่องศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน
วันที่ 14 ธันวาคม ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2566 ในหัวข้อ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน”
นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ร่วมรับรองปฏิญญาสากลฉบับนี้ อันถือเป็นเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญที่เป็นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติต่างดำเนินการและผลักดันเพื่อให้สิทธิที่ระบุไว้ในปฏิญญาเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดี ผ่านไป 75 ปี สิทธิมนุษยชนก็ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างมากในปัจจุบัน ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบอยู่ทั่วไป ซึ่งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศต่างๆ ล้วนเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ในขณะนี้เลวร้ายกว่าเมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมา และนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง มีความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
สำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังมีปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ความตระหนักรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน กสม. จึงได้นำประเด็นที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก มากำหนดเป็นนโยบายการขับเคลื่อนงานที่สำคัญสำหรับปี 2567 ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกสม. จะร่วมกับทุกภาคส่วนพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นหลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคนตลอดทั้งกระบวนการ (Access to Justice for All) โดยขับเคลื่อน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และผลักดันร่าง พระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม เพื่อให้มีหน่วยงานกลางและมีการจัดการเรื่องทะเบียนประวัติอาชญากรรมที่ไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนจนเกินสัดส่วน (2) สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อันเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่กระทบต่อสิทธิในชีวิตและสุขภาพ และ (3) สิทธิผู้สูงอายุ โดย กสม. จะผลักดันทั้งในระดับประเทศและกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ให้สิทธิของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนกระแสหลัก และสร้างหลักประกันว่าผู้สูงอายุจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยังมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างสร้างสรรค์
“ในโอกาสครบรอบ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปีนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจะได้ถอดบทเรียนของภารกิจงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้าถึงการทำงานเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ยังมีอยู่ และปัญหาในอนาคต” นางสาวพรประไพ กล่าว
ด้าน นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงระบุถึงพัฒนาการเชิงบวกด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในช่วงที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันได้มีการประกาศใช้แผนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรียังได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการปูทางสู่กระบวนการพิจารณาและผ่านกฎหมายที่จะมีผลส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ เห็นความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และนำมาตรฐานระหว่างประเทศมาส่งเสริมการพัฒนาในประเทศ จึงมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC วาระปี ค.ศ. 2025 - 2027 ของไทย เพื่อสานต่อความร่วมมือกับประชาคมโลกในการแสวงหาแนวทางการป้องกันและรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
จากนั้น กสม. ได้มอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยผู้รับรางวัลทั้ง 9 รางวัล ได้ขึ้นรับโล่เกียรติยศและกล่าวถึงความรู้สึก และความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้ (1) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw (2) นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการ รายการข่าว 3 มิติ (3) นายเดโช ไชยทัพ นายกสมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ (4) รองศาสตราจารย์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (5) นางสาวรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (N-Wave) (6) นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาชุมชน/เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 5 จังหวัดอันดามัน (7) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (8) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และ (9) นางสาวธนานุช สงวนศักดิ์ ผู้สื่อข่าวอิสระ
ช่วงท้ายของงานยังมีการเสวนา หัวข้อ “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” ร่วมเสวนาโดย นายพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ดำเนินรายการโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
โดยวงเสวนาได้กล่าวถึงหลักการสิทธิมนุษยชนที่เป็นเรื่องของทุกคน เกี่ยวโยงกัน มีผลต่อการยอมรับในระดับสากล และยังมีผลกระทบต่อการค้าการลงทุนด้วย โดยรัฐมีหน้าที่ในการเคารพ ปกป้อง และเติมเต็ม ทำให้สิทธินั้นเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนายังได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องเป็นความยุติธรรมสำหรับทุกคน สิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มคนจนเมืองที่พบอุปสรรคและความเหลื่อมล้ำในการพิสูจน์สิทธิหรือไม่ได้รับโอกาสในการจัดสรรที่ดินอย่างเหมาะสม อุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมาตรฐานขั้นต่ำของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ คนพิการ และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ทั้งนี้ ในเวทียังได้กล่าวถึงการออกแบบนโยบายสาธารณะที่ต้องครอบคลุมและคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างกันของประชากรแต่ละกลุ่ม โดยหน่วยงานของรัฐควรมีการทำงานที่เชื่อมประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้คนทุกกลุ่มได้มีสิทธิและศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน//
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย