วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

อยุธยา- ผวจ.นิวัฒน์ฯ ลงพื้นที่ปราสาทนครหลวง เพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่ต้องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 13.30 น. นายนิวัฒน์  รุ่งสาคร  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  พร้อมด้วย นายไพรัตน์ เพชรยวน  รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  นางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3  พระใบฎีกาพิทักษ์  รตนวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดนครหลวง นายศุภสิทธิ์  เอี่ยมเจริญ  นายอำเภอนครหลวง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ ปราสาทนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย นายนิวัฒน์  รุ่งสาคร  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า  สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ ได้เชิญสำนักศิลปากรที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหาแนวทางเชื่อมโยงและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางหลังออกจากอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งได้เดินสำรวจพื้นที่โดยรอบปราสาทนครหลวง เพื่อเตรียมพัฒนา ฟื้นฟู ภูมิทัศน์ต่าง ๆ และบริเวณวัดนครหลวง จนถึงตลาดริมน้ำ ซึ่งมีร้านค้ากว่า 70 ร้าน มาจำหน่ายสินค้าขึ้นชื่อของอำเภอนครหลวง ให้บริการนักท่องเที่ยวในวันเสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา  10.00 - 20.00 น. อีกด้วย

“ปราสาทนครหลวง” มีประวัติความเป็นมา โดยสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพ.ศ. 2147 พระองค์ได้โปรดให้ช่างจำลองแบบมาจากปราสาทที่กัมพูชาแล้วสร้างเป็นที่ประทับ ก่ออิฐถือปูน โดยนำมาสร้างใกล้กับวัดเทพจันทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีก แต่ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ในสมัยนั้น ต่อ มาในปีพ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นพร้อมๆกับสร้างพระพุทธบาทสี่รอยไว้บน ลานชั้นบนของปราสาท นับแต่นั้นมาปราสาทนครหลวงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัด สิ่งที่น่าสนใจของ “ปราสาทนครหลวง” นั่นก็คือ ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเขา ซึ่งทำขึ้นโดยนำดินมาถมให้สูง มีระเบียงล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น แต่ละชั้นมีประตูเข้าสู่ชั้นสูงสุดนับสิบประตู ระเบียงคดแต่ละชั้นสร้างปรางค์ประจำทิศทั้งสี่มุม และที่กึ่งกลางก็มีปรางค์ด้วย ในปราสาทมีสิ่งที่น่าชมคือภายในมีปรางค์ประมาณ 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอม แต่ก่อด้วยอิฐ ไม่ใช่ศิลาแลง องค์ปรางค์มีการย่อมุมไม้ยี่สิบ หมายถึงมุมหนึ่งทำเป็นมุมเล็กได้ห้ามุม (สี่มุมคูณด้วยห้าจึงมี 20 มุม) จากการบูรณะของกรมศิลปากรพบว่า การสร้างปรางค์ของเดิมใช้โครงไม้ขึ้นรูปก่อนแล้วก่ออิฐล้อตาม
โดย ชั้นบนสุดปราสาทนครหลวง จะเป็นที่ตั้งของมณฑปจตุรมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเอาไว้ข้างใน ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งระเบียงคด คือส่วนที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์ ปัจจุบันเหลือแต่ผนังของระเบียงคด และอีกหนึ่งจุดสำคัญคือ ตำหนักนครหลวง หรือ ศาลพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนครหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจัตุรมุข ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปลัด (ปลื้ม) หรือพระครูวิหาร-กิจจานุการได้นำพระจันทร์ลอยจากวัดเทพจันทร์ลอย ต.พระจันทร์-ลอย อ.นครหลวง ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทนครหลวงมาประดิษฐานไว้สำหรับแผ่นหินพระจันทร์ลอย มีลักษณะเป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร หนา 6 นิ้ว บนแผ่นหินมีรูปแกะสลักที่ค่อนข้างดูยาก ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปพระเจดีย์สององค์และพระพุทธรูปสามองค์ ส่วนอีกด้านหนึ่งสลักเป็นรูปปลาคล้ายสัญลักษณ์ราศีมีน  

เดชา  อุ่นขาว  รายงานจากอยุธยา
สนับสนุนโดย
 รายงานข่าว

โพสต์ข่าวแนะนำ

‘Hall of Friends Concert’ ปรากฏการณ์เพลงฮิต รวมศิลปินกว่า 30 ชีวิตที่คุณคิดถึง

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์ ‘Hall of Friends Concert’ ปรากฏการณ์เพลงฮิต รวมศิลปินกว่า 30 ชีวิตที่คุณคิดถึง คอนเสิร์ตที่กลับมาพร้อมความทรง...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ

ข่าวดังรายสัปดาห์ HOT NEWS