วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี 2566
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  นายเฉลิมพงษ์ บุญรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 สุพรรณบุรี ตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพ “โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ” ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจให้กับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการฝึกอบรม เตรียมพร้อมสู่ตลาดแรงงานสร้างรายได้ สร้างชีวิตใหม่ เป็นพลเมืองชั้นดีที่มีคุณภาพในสังคม
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ม.3 เป็นโครงการฯ ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมประชาสัมพันธ์ สนับสนุนการดำเนินงานทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศในรูปแบบของคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับของแต่ละจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาการฝึกทักษะด้านอาชีพประมาณ 3 - 6 เดือน ก่อนจะเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นการเข้าสู่ตลาดแรงงานในสถานะของแรงงานมีฝีมือ ผลที่ได้รับคือจะได้รับค่าจ้างแรงงานสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เป็นการเพิ่มรายได้ให้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพ  
สำหรับจังหวัดสุพรรณบุรี มีนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 21 คน ระหว่างวันที่ 18 เมษายน ถึงเดือนกันยายน 2566 เปิดฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพ จำนวน 7 หลักสูตร ได้แก่ ช่างกลึงชิ้นส่วนเครื่องกล ช่างเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างประกอบโครงอะลูมิเนียม ช่างไฟฟ้า และช่างอิเล็กทรอนิกส์  ขณะนี้สำนักงานจัดหางานจังหวัดสุพรรณบุรีได้รวบรวมข้อมูลจำนวนและตำแหน่งงานว่างเพื่อรองรับแล้ว ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมามีนักเรียนกว่า 40 คน ที่เรียนจบแล้วมีงานทำทันทีสามารถประกอบอาชีพทั้งอิสระและตามสถานประกอบการต่าง ๆ และเพื่อให้โครงการนี้บอกต่อรุ่นสู่รุ่นและสานต่อสู่อนาคตในระยะยาวได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการ 2 ประเด็น คือ
1.การเพิ่มจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายมาเข้าร่วมโครงการฯ ให้ได้มากที่สุด  2. การเพิ่มจำนวนการมีงานทำของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่จบการฝึกอบรมตามโครงการฯ ให้ได้มากที่สุด 
นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี  กล่าวเสริมว่า จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมให้การสนับสนุนและเตรียมทำประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ปกครองได้เห็นภาพและประโยชน์ที่จะได้รับหลังจากส่งบุตรหลานเข้ารับการอบรม พร้อมทั้งประสานหน่วยงานและภาคีต่าง ๆ ที่มีเด็กกลุ่มเป้าหมายและต้องการส่งเด็กเข้าอบรมเป็นการขยายโอกาสให้กับเด็กที่มีความพร้อมที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานแต่ยังขาดทักษะและฝีมือได้มีงานทำเพื่อช่วยผู้ปกครองหารายได้จุนเจือครอบครัวและมีอนาคตที่ดีต่อไป
ปิยะพงษ์ สุขเผือก/ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุพรรณบุรี/ที่มา
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย
 รายงานข่าว

โพสต์ข่าวแนะนำ

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

17 กรกฎาคม 2567  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการวิจัยแก่บุคลากร ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 - 19 กรกฎาค...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ