ข่าวสังคม
ป.ป.ช. อุบลฯ แจ้งข้อเท็จจริงหลังตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำมูล วัดสุปัฏนารามวรวิหาร (ต่อเนื่องเขื่อนเดิม)
วันนี้ (4 ตุลาคม 2566) สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุบลราชธานี แจ้งข้อเท็จจริงกรณีการทรุดตัวของเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำมูล บริเวณหน้าวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นและเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การทุจริตในการดำเนินการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566
หลังจากการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารหลักฐาน ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
(1) โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง งบประมาณ 77,450,000 บาท (เจ็ดสิบเจ็ดล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ระยะเวลาการก่อสร้าง 700 วัน (4 ธันวาคม 2563 - 3 พฤศจิกายน 2565) มีห้างหุ้นส่วนจำกัด อุบลวรสิทธิ์ก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง แต่เนื่องจากความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในแนวเขื่อนเดิม (สร้างในปี 2561) และแนวเขื่อนใหม่ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 และอยู่ในช่วงรับประกันผลงานตามสัญญาจ้าง บริษัทผู้รับจ้างจึงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณแนวเขื่อนใหม่
(2) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ดร.สิทธินันท์ เบ็ญจสุพัฒนนันท์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ พร้อมคณะ จากสำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย พร้อมทั้งได้ทำการประชุมเพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจากเมื่อหลายวันก่อนหน้าได้มีฝนตกหนักในพื้นที่เมืองอุบลราชธานี จึงทำให้ระดับน้ำใต้ดินมีปริมาณสูง อีกทั้งบริเวณที่เสียหายเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันจากหลังเขื่อนมายังหน้าเขื่อน ทำให้น้ำใต้ดินไหลมารวมกันและเกิดแรงดันน้ำใต้ดินบริเวณหน้าเขื่อนจนทำให้เขื่อนป้องกันตลิ่งเกิดความเสียหาย โดยเขื่อนป้องกันตลิ่ง, ทางเดินเท้า, ราวกันตก และ ถนน ค.ส.ล. ได้รับความเสียหายตามตลิ่งริมแม่น้ำเป็นความยาวประมาณ 100 เมตร และทรุดตัวกว้างประมาณ 1.00 – 2.00 เมตร ลึกประมาณ 1.50 เมตร
(3) กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีคำสั่ง ที่ 1438/2566 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบความเสียหายของเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำมูล
(4) กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กำหนดแนวทางการออกเป็นสองระยะ ดังนี้
- ระยะสั้น ดำเนินการป้องกันแนวเขตพื้นที่อันตรายโดยการล้อมรั้วสังกะสีเพื่อป้องกันอันตรายให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา การรื้อถอนโครงสร้างส่วนบน (ทางเท้า, ราวกันตก, ถนน ค.ส.ล.) ออกเพื่อเป็นการลดน้ำหนักโครงสร้างที่กระทำต่อชั้นดินหน้าเขื่อน ตลอดจนการตอกแผ่น Sheet Pile ตลอดแนวความเสียหายเพื่อป้องกันหน้าดินไม่ให้ได้รับความเสียหายเพิ่มเติม
- ระยะยาว ให้ผู้เชี่ยวชาญทำการวางแผนสำรวจ ออกแบบ และดำเนินการซ่อมแซมเป็นการถาวร
(5) วันที่ 27 ก.ย. 66 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือที่ อบ 0022.2/3334 ลงวันที่ 27 กันยายน 2566 รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้แจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการรื้อถอนโครงสร้างเดิมบางส่วนเพื่อลดน้ำหนักและป้องกันการทรุดตัวต่อเนื่อง โดยให้ใช้เสาเข็มพืดเหล็กกดบริเวณรอยต่อถนนที่ได้รับความเสียหายป้องกันดินไหลออก พร้อมแจ้งให้ทำการสำรวจชั้นดินใหม่เพื่อทำการออกแบบและแก้ไขต่อไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบและประมาณราคา ในส่วนของการซ่อมแซมกรมฯ จะดำเนินการภายหลังจากฤดูน้ำลด ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย