ข่าวประชาสัมพันธ์
ก้าวสู่ปีที่ 7…ภาครัฐ ประชาสังคม และ 52 องค์กรเอกชน รวมพลังเข้มแข็งต่อเนื่อง ร่วมจัดการประชุมเดินหน้าแผนงานมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ชู “แนวทางความร่วมมือ 3 ภาคส่วน สานต่อการศึกษาไทย ประจำปี 2566”
กรุงเทพฯ 20 พฤศจิกายน 2566 – รวมพลังต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 สานต่อเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย ให้ก้าวไกลอย่างมั่นคงและยั่งยืน...มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี นำโดย องคมนตรี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (แถวแรกบนเวที - กลาง) ในฐานะประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ จัดการประชุม “แนวทางความร่วมมือ 3 ภาคส่วนในการสนับสนุนการศึกษาไทย ประจำปี 2566” ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น 3 ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ โดยมีคณะที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ (แถวแรกบนเวที - ที่ 12 จากขวา) ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ (แถวแรกบนเวที - ที่ 12 จากซ้าย) ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ พร้อมด้วยซีอีโอ คณะผู้บริหารจากองค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หารือและวางแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปซึ่งจะเน้นให้โรงเรียนส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง (Child-Centric Learning) และการลงมือปฏิบัติ (Action-based Learning) เพื่อส่งเสริมการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้นอกหลักสูตร (Extracurricular) ในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Learning Center) ที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ตามความสนใจ ค้นคว้า ทดลอง นำไปสู่การอภิปรายด้วยเหตุผล ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนปรับ KPIs ให้ท้าทายยิ่งขึ้น ทั้งเพิ่มน้ำหนักการประเมินด้านผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงกำหนดตัวชี้วัดย่อยมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังกำหนดเป้าหมายให้เพิ่มโรงเรียนคุณภาพระดับยอดเยี่ยม (Excellent) สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีทั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และส่งเสริมให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเอง พัฒนาหลักสูตรที่สร้างภูมิคุ้มกันทางเทคโนโลยี และรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอดจนเชื่อมโยงภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาท ในการพลิกโฉมศักยภาพเด็กไทยให้เป็นเด็กดี มีความสามารถ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตภายใต้ความร่วมมืออันเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ปัจจุบันมีโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีที่อยู่ในสังกัดสพฐ. จำนวน 5,570 แห่ง ทั่วประเทศ มีนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาสะสมแล้วกว่า 2.31 ล้านคน บุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาศักยภาพ มากกว่า 82,000 คน ขณะที่มีผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ผ่านการพัฒนาทักษะผู้นำ 1,567 คน มีผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) ภาครัฐและเอกชน 2,000 คน ดูแลครอบคลุม 4,100 โรงเรียน และในปี 2566 มูลนิธิฯ ได้เพิ่มเครือข่ายพันธมิตรอีก 5 องค์กร ขยายจาก 12 องค์กรชั้นนำผู้ร่วมก่อตั้ง 19 องค์กรรุ่นที่ 2 และ 16 องค์กรรุ่นที่ 3 เดิม รวมปัจจุบันเป็น 52 องค์กรโดยผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency)
ได้มีการจัดทำวิจัย “พัฒนาเครื่องมือประเมินคุณภาพโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีในยุคดิจิทัลที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก” ต่อยอดจากการประเมินคุณภาพโรงเรียนในเชิงปริมาณ (School Grading) โดย คณะวิจัยจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำการวิจัยเชิงคุณภาพและพบว่า ICT Talent และ Learning Center รวมถึงอุปกรณ์ไอซีทีในโรงเรียน มีส่วนช่วยให้นักเรียนพัฒนามากขึ้น สร้างเจตคติที่ดีในการเรียน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าแสดงออก โดยจะนำผลการวิจัยนี้ไปปรับตัวชี้วัดใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อใช้วางแผนพัฒนาโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีให้ตรงจุดมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanisms)
- ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) อย่างต่อเนื่อง เสริมทักษะต่างๆ ทั้งการสื่อสาร การพัฒนาความเป็นผู้นำ เพื่อนำไปใช้ในการทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาและผู้อื่น
-โรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี 99 แห่ง ได้รับเงินบริจาค 20.6 ล้านบาท จากการระดมทุนโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา (Notebook for Education) เพื่อนำไปจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กพร้อมติดตั้ง Filtering Software ให้แก่นักเรียน
-ภาครัฐได้ขยายผลองค์ความรู้จากภาคเอกชน 17 โมเดล สู่โรงเรียนในสังกัดสพฐ. นำโมเดลที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนไปศึกษาและประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
-ได้จัดทำรายชื่อคณะทำงานร่วมภาครัฐ-เอกชน ทั้ง 5 คณะ ประจำปี 2566 และเพิ่มเติมรายชื่อคณะทำงานที่ 6 ด้านนโยบายและบุคลากรทางการศึกษา จากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อให้การทำงานระหว่างรัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers)
-ได้จัดอบรมออนไลน์แก่บุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีภายใต้การดูแลของ สพฐ. รวมถึงกลุ่มโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา โดยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้บุคลากรทางการศึกษา 3,500 คนได้รับการอบรมด้านทักษะดิจิทัล มีความมั่นใจในการนำปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดีจากนักเรียน
-ได้จัดอบรมให้แก่ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ICT Talent) อย่างต่อเนื่อง เปิดรับสมัคร ICT Talent ภาครัฐ รุ่นที่ 4 จำนวน 500 คน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2566) พร้อมผลักดันนโยบายรับสมัคร ICT Talent ภาครัฐ เพิ่ม 500 คน/ปี ปัจจุบัน มี ICT Talent ทั้งสิ้น 2,000 คน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum)
-ส่งมอบชุดนวัตกรรมคุณธรรมคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Moral Innovation) ให้แก่ภาครัฐเพื่อนำไปวิจัยและขยายผล พร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ connexted.org
-ขยายผลจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Learning Center) จากที่บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ริเริ่ม 9 แห่ง ปัจจุบันเพิ่มเป็น 63 แห่งทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งในจำนวนนี้ มีของภาครัฐ 6 แห่ง โดยจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาด้านศักยภาพด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้โครงการเป็นฐาน (Project-based Learning) และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ” และหลักสูตรพัฒนาการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้นอกหลักสูตร (Extracurricular)ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครู ร่วมกับคณะวิจัยจากสำนักนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-เดินหน้าจัดทำคลังความรู้ “Learning Zone : พื้นที่เรียนรู้ สู่อนาคต” รายการโทรทัศน์เสริมทักษะความรู้ที่ 19 องค์กรภาคเอกชน ได้ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และทักษะในด้านต่างๆ ส่งผลให้เยาวชน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา ได้นำไปเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนและต่อยอดการเรียนรู้
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures)
-จัดซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจากโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา (Notebook for Education) แก่โรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี 99 แห่ง พร้อมติดตั้งสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และ Filtering Software เพื่อป้องกันการใช้งานเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนอบรมความรู้ในการจัดกระบวนการใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเป็นฐาน (Notebook-based Learning) ร่วมกับการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้คุณครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากผลสำรวจ นักเรียน มีทักษะการใช้อุปกรณ์ไอซีทีและทักษะการสืบค้นที่ดียิ่งขึ้น
-องค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง และองค์กรพันธมิตรภาคเอกชน ได้ร่วมบริจาคคอมพิวเตอร์มือสองกว่า 6,000 เครื่องให้แก่โรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีที่ในความดูแล 300 แห่ง
ในโอกาสนี้ ตัวแทนคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี ยังได้มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวแห่งความสำเร็จจาก พัฒนาการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้นอกหลักสูตร (Extracurricular) ได้แก่ โรงเรียนวัดกำแพง จ.ชัยนาท ภายใต้การดูแลของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น โรงเรียนต้นแบบที่นำการจัดการเรียนการสอนในศูนย์ Learning Center มาสร้างสรรค์โครงการ Pomelo of PBL ตามกระบวนการ Active -based Learning ทำให้เด็กและชุมชนได้มีโอกาสร่วมกันหาแนวทางเพิ่มมูลค่าส้มโอ ของดีชัยนาท พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย และโรงเรียนวัดกระทุ่ม (โสมประชาสรรค์) จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้การดูแลของของบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่เข้าร่วมโครงการ OTOP Junior นำเสนอผลิตภัณฑ์ทองม้วน และได้รับรางวัลชนะเลิศ OTOP Junior ปี 2017 พร้อมได้รับเงินทุนในการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้น จนได้โอกาสนำผลิตภัณฑ์ทองม้วนไปนำเสนอและจำหน่ายที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-858-1881-2 หรืออีเมล : Partners.connexted@gmail.com รวมถึงสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้ที่ connexted.org
#มูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี #CONNEXTEDfoundation
เว็บไซต์: http://connexted.org
FB: CONNEXT ED
_____
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สนับสนุนโดย