วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

ข่าวสังคม
https://youtu.be/RridGFTIU_E?si=rzjhMAXcKpER3qMI
พังซ้ำ ซ่อมซ้า ตลิ่งน้ำยมสุโขทัย !!
“พนังดินซีเมนต์” ทางรอด ซ่อมตลิ่ง
“พื้นที่สุโขทัยเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซากเมื่อถึงฤดูฝนจะมีมวลน้ำขนาดใหญ่จากจังหวัดพะเยาและแพร่ทำให้พนังถนนพังเกิดความเสียหาย โดยได้สำรวจความต้องการจากชาวบ้านและท้องถิ่นซึ่งต้องการโครงการก่อสร้างเขื่อนเรียงหินเพื่อป้องกันตลิ่งประมาณการงบประมาณ 470 ล้านบาท“ (ไทยโพสต์ 3 ก.ย. 2563)

เมื่อวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ช่วงบ่าย นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะ ลงสำรวจพื้นที่ มีนายวีระศักดิ์ แสงทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากแคว เป็นผู้ชี้แจงให้ข้อมูลว่า มีความต้องการในการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในแม่น้ำยมบริเวณสะพานแยกโตโยต้า หมู่ที่ 1 บ้านวังหิน ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัย เพราะในพื้นที่ประสบทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ปัญหาตลิ่งพัง และต้องการสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ในเขตตัวเมืองเพื่อหน่วงชะลอน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทั้งนี้นายสังศิคและคณะ เดินสำรวจพื้นที่ตลิ่งริมน้ำยม บริเวณบ้านวัง ตำบลปากแคว พบแนวตลิ่งทรุดพังเป็นระยะตลอดแนว ทำให้ท่วมชาวบ้านเป็นบริเวณกว้างในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา (ก.ย.- ต.ค.) 

จากการศึกษาพบว่ามี บางแห่งผ่านการซ่อม โครงการก่อสร้างใหม่เพิ่งเสร็จได้ประมาณ 2 เดือน ด้านหน้าเป็นเรียงหิน ด้านท้ายเป็นกำแพงคอนกรีต ซึ่งน้ำทะลักจากฝั่งแม่น้ำยมทะลุผ่านเรียงหิน แล้วกัดเซาะใต้ถนนคอนกรีตเข้ามาท่วมหมู่บ้าน (https://mgronline.com/local/detail/9660000088669: 2 ต.ค. 2566) ปี 2563 ก็เกิดการทรุดพังของตลิ่งริมน้ำยม จังหวัดสุโขทัย บริเวณเดียวกันต่อเนื่องทุกปี 
(https://www.bangkokbiznews.com/news/894803 และในปี 2557 เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่บริเวณหมู่ 7 ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย ตลิ่งแม่น้ำยมพังยาวกว่า 50 เมตร ในพื้นที่ อ.เมือง หลังระดับน้ำลดลง (https://www.posttoday.com/politics/318331) 

นายสังศิตให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ”สถานการณ์ตลิ่งพังตามแนวริมน้ำยมมีลักษณะคล้ายกับที่เกิดขึ้นริมน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด มีลำน้ำกว้างลึกไหลเชี่ยวกรากในช่วงฤดูฝน ทำให้พนังตลิ่งทรุดพังขาด น้ำท่วมนาประมาณ 20,000 ไร่ พัง ทรุด ซ่อมหลายครั้งก็เอาไม่อยู่ จนเปลี่ยนมาใช้ “พนังดินซีเมนต์” ผ่านน้ำเชี่ยวกรากมาสองฤดูพนังดินซีเมนต์ยังคงรักษาตลิ่งไว้ได้อย่างมั่นคง เกษตรไม่ได้รับความเสียหายอีกต่อไป https://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG231008174514720 จึงอยากเสนอให้จังหวัดสุโขทัยใช้นวัตกรรม “พนังดินซีเมนต์” ซ่อมตลิ่งริมน้ำยม เพื่อไม่ให้เกิดการทรุดพังซ้ำอีก“ 

เช้าวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้นำคณะเดินทางออกจากจังหวัดตากมุ่งหน้าสู่ จังหวัดสุโขทัย เพื่อลงพื้นที่ศึกษาดูงานฝายแกนดินซีเมนต์  ณ วัดถ้ำพระแม่ย่า หมู่ที่ 5 บ้านโว้งบ่อ ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย คณะเดินทางถึงเวลา 10:00 นาฬิกา โดยมีนายไพโรจน์ คชนิล เลขานุการนายกอบจ.สุโขทัย นางกรรณชนก ขวัญนาง นายอำเภอคีรีมาศ นายบุญส่ง ชำนาญเสือ นายกอบต.นาเชิงคีรี นายบุญส่ง ไคร้แค ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ ประชาชนในชุมชนใกล้เคียงให้การต้อนรับ พื้นที่ตำบลนาเชิงคีรีเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ ฤดูฝนจะมีน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ที่อยู่อาศัย รวมทั้งวัดและโรงเรียน ประมาณ 2 วัน แล้วน้ำจะลดและหายไป ส่วนในหน้าแล้ง ไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร 

นายบุญส่ง ไคร้แค ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ตัวแรกขึ้นในพื้นที่อบต.นาเชิงคีรี แต่ยังไม่แล้วเสร็จดี ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม พ่อค้าประชาชนในพื้นที่ และชมรมคนรักษ์ต้นน้ำ บริจาคปูนซีเมนต์ร้อยกว่ากระสอบ ซึ่งในขณะนี้ยังได้มีการตั้งกองทุนเพื่อการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งจุดสร้างฝายในบริเวณวัดถ้ำพระแม่ย่านั้น ดร.เพ็ญจันทร์ ล้อสีทอง ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รับเป็นเจ้าภาพในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในจุดดังกล่าว

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวชื่นชมความเสียสละและการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เช่น ที่อำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันสร้างฝายแม้ว มากกว่า 100,000 ตัว และพื้นที่จังหวัดตาก ก็มีการรวมกลุ่มกันสร้างฝายหินทิ้งเกือบหมื่นตัว ซึ่งส่วนใหญ่ฝายทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวข้างต้น จะได้รับความเสียหายเพราะน้ำป่าไหลหลาก และไม่สามารถเก็บน้ำไว้บนผิวดินได้เท่าที่ควร เพราะน้ำสามารถซึมลอดผ่านและกัดเซาะฝายให้พังได้ ฝายแกนดินซิเมนต์จึงเป็นทางออกของการแก้ปัญหาน้ำแล้งได้ดี

คณะกรรมาธิการฯ จึงได้เดินทางออกไปเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่งมีแกนดินที่ทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ ซึ่งฝายแกนดินซีเมนต์สามารถสร้างได้อย่างรวดเร็ว มีราคาถูก ทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการกักเก็บน้ำ

ในการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ได้เห็นการรวมตัวกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม เช่น การตั้งกองทุนปูนซีเมนต์หรือการจัดทอดผ้าป่าเพื่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ นับเป็นเรื่องที่ดีที่ชาวบ้านลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของตนเอง เพราะถ้ารองบประมาณภาครัฐ ซึ่งมีขั้นตอนตามระเบียบของทางราชการ ต้องใช้เวลาอีกนาน

จากนั้น คณะได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมฝายแกนดินซีเมนต์ซึ่งอยู่ห่างจากวัดถ้ำพระแม่ย่า ประมาณ 500 เมตร อยู่ในสวนของคุณลุงดอกรัก อ่อนบุญ เป็นฝายที่มีความยาว 10 เมตร ความสูงของสันฝาย 1.5 เมตร คาดว่าจะเก็บน้ำได้ 11,110 ลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์รอบๆ ฝายประมาณ 100 ไร่ เป็นสวนผลไม้ สวนยางพารา และไร่อ้อย ซึ่งจุดนี้มีคณะครูนำเด็กนักเรียนเข้าร่วมเยี่ยมชมฝายดังกล่าวด้วย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการให้เด็กๆ ได้ซึมซับกับวิถีชุมชนที่มีความรักสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง 

คณะได้เดินทางไปศึกษาดูงานตัวอย่างความสำเร็จการแก้ปัญหาความยากจน โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พื้นที่ต้นแบบจังหวัดสุโขทัย ระยะที่ 1 ณ ที่ทำการกลุ่มเลี้ยงโคประชารัฐ บ้านคลองปลายนา หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย โดยมีนายเกียรติศักดิ์ ทองสุระวิโรจน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สาขาเขต 2 และคณะทำงานโครงการฯ เสนอการดำเนินงาน และให้การต้อนรับ โครงการดังกล่าวมีกองทุนหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ 159 กองทุน มีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ 1,000 ราย ในวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท โดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละราย กู้เงินจำนวนคนละ 50,000 บาท เพื่อนำไปซื้อโคตัวละ 25,000 บาท จำนวน 2 ตัว
โครงการดังกล่าวเริ่มปล่อยเงินกู้ให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงโคครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 และปล่อยกู้ครบ 1,000 รายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 มีโคในโครงการทั้งหมด 2,000 ตัว และในปัจจุบันมีผลผลิตจากโครงการซึ่งเป็นลูกโคทั้งสิ้นจำนวน 1,860 ตัว
โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 5 ปี รายได้จากการจำหน่ายโคในปีที่ 1 - 2 ไม่ต้องคืนงบประมาณต้นทุน แต่ในปีที่ 3 - 5 จะต้องคืนงบประมาณต้นทุนมูลค่า 50,000 บาท พร้อมค่าบริหารจัดการโครงการในอัตราร้อยละ 2 บาทต่อปี ผลการดำเนินโครงการในระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา สมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ลดภาระค่าครองชีพอันส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้านให้เกิดความเข้มแข็ง

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวชื่นชมกับความสำเร็จของโครงการ ซึ่งได้รับทราบว่าการเลี้ยงโคเป็นอาชีพเสริมอีก 1 อาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา และจากการสอบถามผู้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ได้รับข้อมูลว่าถึงแม้จะเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน แต่ยังมีบ่อบาดาลไฟฟ้า ทำให้มีน้ำใช้ไม่ขาดแคลน

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ถามผู้เข้าร่วมโครงการฯ ว่าบ้านใครที่ไม่เป็นหนี้ ธกส. บ้าง พบว่ามีเพียง 4 รายเท่านั้น ที่ไม่เป็นหนี้ ธกส. ซึ่งเมื่อได้สอบถามแล้วพบว่าส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา แต่เป็นการทำนาแบบไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ถึงใช้ก็ใช้เป็นจำนวนน้อยมาก ทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ มีผลกำไรสูง จึงสามารถทยอยใช้หนี้ ธกส. ได้ทั้งหมด และกล่าวขอบคุณสำหรับการมาให้ความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้

ในช่วงบ่าย คณะได้เดินทางเข้าร่วมการเสวนาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนด้วยกลยุทธ์การสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสุโขทัย โดยมีนายอธิปไตย ไกรลาศ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสุโขทัย พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ นายไพโรจน์ คชนิล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมการเสวนา

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ตั้งประเด็นคำถามต่อผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าปัญหาใดเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดในท้องถิ่นของตนเอง จากการสอบถามพบว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของจังหวัดสุโขทัยยังคงเป็นปัญหาเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งเหมือนกับทุกจังหวัดที่คณะกรรมาธิการฯ ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงาน และถามคำถามดังกล่าว ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งจึงถือเป็นปัญหาร่วมที่คนไทยจะต้องตระหนักรู้ พร้อมทั้งหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป ซึ่งนวัตกรรมฝายแกนดินซีเมนต์จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาน้ำแล้งได้ เพราะมีคุณสมบัติในการดัก กัก ชะลอน้ำ และมีแกนดินซีเมนต์ที่ช่วยเพิ่มในการกักเก็บน้ำ อีกทั้งมีราคาถูกเพราะใช้ปูนปอร์ตแลนด์ผสมกับดินในอัตราส่วน 1 : 10 – 30 สร้างเสร็จได้เร็ว มีราคาถูก และมีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์

ประเด็นปัญหาอีกประการหนึ่งที่ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เสนอให้รับทราบคือ ปัญหาที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปดำเนินการขุดลอกที่ไม่อนุญาตให้นำดินที่ขุดลอกออกไปทิ้งในที่สาธารณะ ซึ่งประเด็นปัญหาดังกล่าวจะสามารถแก้ไขได้ด้วยแนวทางดินแลกน้ำ

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์
27 พฤศจิกายน 2566
 รายงานข่าว

โพสต์ข่าวแนะนำ

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

17 กรกฎาคม 2567  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการวิจัยแก่บุคลากร ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 - 19 กรกฎาค...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ