วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2565

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

มรส.ผนึกกำลัง UNDP-คาร์กิลล์-ธนาคารออมสิน ผุดโมเดล "นวัตกรรมในการพัฒนาธนาคารขยะ" ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างรายได้เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชน
-------------------------------------------------------------
วันนี้ (8 เมษายน 2565) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จับมือ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) และ คาร์กิลล์ รวมถึงธนาคารออมสิน ผลักดันโครงการ "นวัตกรรมในการพัฒนาธนาคารขยะ" ให้เป็นโมเดลในการลดปัญหาขยะ  หวังสร้างแนวปฏิบัติจัดการขยะอย่างถูกต้องสู่ SDG เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน มรส. และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 3 ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี









ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน มรส. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ          สุราษฎร์ธานีมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นการสร้างแนวปฏิบัติของนักศึกษา บุคลากร และชุมชน เพื่อนำแนวปฏิบัติที่ได้ขยายผลในการบริหารจัดการขยะไปสู่ครอบครัวและชุมชน การพัฒนาระบบ การบริหารจัดเก็บและจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการช่วยดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง เช่น สามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพไว้สำหรับต้นไม้เพื่อคืนความสมบูรณ์กลับสู่ธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง และเพื่อเป็นการนำไปสู่การปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย และก่อให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่วางไว้ พร้อมทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในการศึกษาดูงานให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้มีแนวทางการดำเนินการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปฏิบัติด้านการบริหารจัดการ 1. แนวทางด้านการจัดการขยะต้นทาง 2.แนวทางด้านการจัดการขยะกลางทาง 3.แนวทางด้านการจัดการขยะปลายทาง และ 4.แนวทางเป้าหมายอื่นๆ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของมหาวิทยาลัยและชุมชนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
.
รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน มรส. กล่าวต่อไปว่า หากมหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการขยะได้ดี เป็นการช่วยเหลือชุมชนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยขจัดปัญหาโลกร้อน ประหยัดงบประมาณ เพื่อคุณภาพที่ดีของนักศึกษา บุคลากร ตลอดจนชุมชน สังคมและประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในมิติทรัพยากร มิติเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มิติของเสียและมลพิษ มิติมนุษย์ และสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคใต้  และมรส. จะได้เข้าสู่ในเรื่อง SDG เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ตัวชี้วัด ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ ในด้านการขจัดปัญหาความยากจนในพื้นที่ (SDGs 1) มาแล้ว การบริหารจัดการขยะ จะเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่ง ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ในการเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
.
ด้าน ดร.อมรวรรณ เรศานนท์ project manager จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) กล่าวว่า โครงการ "นวัตกรรมในการพัฒนาธนาคารขยะ" เป็นโมเดลในการส่งเสริมและทดลองนวัตกรรมเพื่อสร้างธนาคารขยะ และจัดทำนโยบายการจัดการขยะในระดับองค์กรและพื้นที่ เพื่อนำ SDG ลงสู่พื้นที่ (SDG localization) โดยเริ่มจากจะช่วยลดปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชน            รอบ ๆ มรภ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีปริมาณมากถึง 63 ตันต่อเดือน และเป็นปัญหาใหญ่ที่มหาวิทยาลัยและชุมชนประสบมานาน โครงการนี้จะจัดสร้างสถานีการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal Station) หรือสถานี SDG บนพื้นที่ 3 ไร่ บริเวณหลังหอพุทธทาสธรรมโฆษณ์ พร้อมจะมีการสอนให้ประชาชนในชุมชน ได้รู้จักคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และนำมาขายให้แก่สถานี SDG เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป  โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะมีการจัดการขยะอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จากการขายขยะ ตลอดจนลดปริมาณขยะที่อาจถูกทิ้งลงไปในทะเล  ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยและนักศึกษาจะสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะจากประสบการณ์จริง 
.
ต่อจากนั้นคณะที่ประชุมได้เดินทางไปที่ห้องประชุมเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อปรึกษาหารือร่วมกับ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกี่ยวกับโครงการ "นวัตกรรมในการพัฒนาธนาคารขยะ" ต่อไป
 -------------------------------------------------------------
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร ข่าว/ภาพ

โพสต์ข่าวแนะนำ

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมจิตอาสา “ปันรัก...ปันสุข...มอบไข่(ต้ม)ใส่ใจสุขภาพ” วันที่ 29 มีนาคม 2567 ...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ