วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2565

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

๐๐เปิดแนวคิด พ่อดีเด่นแห่งชาติ 2565 บ่มเพาะความรัก เข้าใจ สร้างวินัยผ่านสถาบันครอบครัว๐๐
เปิดแนวคิด “พ่อดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี 2565 บ่มเพาะความรัก เข้าใจ สร้างวินัยผ่านสถาบันครอบครัว
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี 2565 ทางสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ร่วมกับคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “พ่อดีเด่นแห่งชาติ” จำนวน 27 รางวัล ใน 3 ประเภท คือ 1.ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 9 รางวัล 2.ภาคเอกชน 9 รางวัล และ 3.บุคคลทั่วไป 9 รางวัล ภายในงาน “น้อมรำลึกพ่อหลวงไทย ร่วมใจเชิดชูวัฒนธรรม” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา และเนื่องในวันพระแห่งชาติ ตัวแทนคุณพ่อดีเด่น 3 ท่าน ได้เปิดเผยแนวคิดของพ่อกับการเลี้ยงลูก

สถาบันครอบครัว สถานที่บมเพาะความรัก ที่สำคัญ

ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล อายุ 70 ปี ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาฝ่ายยุทธศาสตร์ ประจำรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนถือเป็นคนยุคเบบี้บูมเมอร์ที่เกิดในปีค.ศ.1950 มองว่าสถาบันครอบครัว ที่เป็นสถาบันแรกตามหลัก “บวร” คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ซึ่งครอบครัวเป็นสถานที่แรกที่จะบมเพาะให้เกิดความรัก ความอาบอุ่น แต่สังคมยุคใหม่อาจจะให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวลดลง เหตุผลด้วยภาวะทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต่างออกจากบ้านไปงาน รวมถึงแนวคิดไม่อยากแต่งงาน การยอมรับการอยู่ร่วมกันของเพศเดียวกัน ขณะที่สังคมผู้สูงวัยก็เพิ่มขึ้น แต่สถาบันครอบครัวยังมีความสำคัญอยู่มาก ตนเองก็ดูแลพ่อแม่อย่างดีกระทั่งท่านเสียชีวิต พร้อมกับดูแลลูกชายทั้ง 3 คนให้เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก แม้ว่าลูกๆ ต่างมีครอบครัวแล้ว แต่ทุกคนยังมีวันที่กลับมาใช้เวลาร่วมกันทุกสัปดาห์ สร้างความผูกพันธ์กัน ให้ลูกมีความกตัญญู

“สิ่งสำคัญคือ 1.การเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น อย่างที่ผมและภรรยาของผมดูแลพ่อแม่ของตัวเองอย่างดี 2.เมื่อเราอยู่ด้วยกัน เราจะทำให้เขาเห็นความกตัญญูที่เรามีต่อพ่อแม่ ใช้เวลาร่วมกันทั้งพ่อแม่ ลูก หลาน ใช้การโอบกอด การพูดคุย ให้กำลังใจกัน และ 3.เมื่อเราไปเที่ยวกัน ไปทำบุญ บริจาคในสถานสงเคราะห์ต่างๆ ผมก็จะพาพ่อแม่และลูก หลานไปด้วยกัน พร้อมสอนเขาให้เห็นถึงโอกาสของคนที่ต่างกัน ให้เขาเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว ฉะนั้น ไม่ใช่แค่บ้าน แต่เป็นสถานที่สร้างความรัก ความอบอุ่น ซึ่งสิ่งนี้จะสืบทอดให้กับลูกเรา ภรรยาของเขา และลูกของเขาต่อไป” ศ.ดร.ไชยา กล่าว

หลักคิดใช้ชีวิตอย่างมีวินัยต่อตนเองและผู้อื่น

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตร อายุ 53 ปี ตำแหน่ง อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตนรู้สึกภูมิใจในตนเองและลูก ดีใจที่ได้รับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติในปี2565 ดีใจที่มีคนเห็นคุณค่าที่ตนกำลังทำอยู่ อย่างน้อยเราก็พยายามสอนให้ลูกเราเป็นคนดีของสังคมในอนาคตต่อไป ซึ่งปกติแล้วไม่ว่าจะดูแลลูกหรือทีมงาน ตนจะยึดหลักคิด “การเป็นคนดี ซื่อสัตย์ มีวินัยและมีน้ำใจ” โดยเฉพาะการเลี้ยงลูก ตนไม่ได้โฟกัสว่าจะต้องเรียนให้เก่ง ให้ได้อันดับที่ 1 2 หรือ 3 แต่จะสร้างวินัยให้กับลูก เช่นหากเขาอยากจะได้ของชิ้นหนึ่ง เราก็จะให้เขาช่วยทำงานที่เขาทำได้ หรือถ้าเขาสอบได้คะแนนดีก็จะมีของรางวัลเป็นกำลังใจให้เขา ขณะที่ การมีวินัยไม่ได้หมายถึงแค่การใช้ชีวิตแต่ยังรวมถึงวินัยทางการเงินด้วย ให้เขารู้จักออมเงิน และขอให้ลูกเป็นคนดี ไม่เอาเปรียบคนอื่น หากเรามีน้ำใจต่อผู้อื่นก็จะได้รับความจริงใจ ความรักตอบแทนกลับมา

“ผมคิดว่าการเรียนรู้ โตขึ้นไปเด็กทุกคน ก็จะเรียนรู้ได้ แต่เรื่องวินัยการใช้ชีวิต ยิ่งโตยิ่งสอนยาก ฉะนั้น เราต้องปลูกฝังเขาตั้งแต่เด็ก ให้เขารู้จักเคารพผู้อื่น มีวินัยในการใช้ชีวิต” นายวรวิทย์ กล่าว

เมื่อถึงเวลาก็ต้องปล่อยให้ลูกโตเป็นผู้ใหญ่อย่างอิสระ

นายศักดิ์สิทธิ์ รัตนอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการและเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายประนอมหนี้นครหลวง ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ และเป็นคุณพ่อของ นายชนกันต์ รัตนอุดม (อะตอม) นักร้อง สังกัด ไวท์มิวสิก จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวว่า ตนรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากๆ ที่เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลพ่อดีเด่นแห่งชาติประจำปี2565 ในแง่ของการเลี้ยงดูลูกชายที่เป็นศิลปิน ต้องยอมรับว่าลูกชายมีงานตลอดเวลา จะคุยกันผ่านโทรศัพท์ เราก็เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก จะไม่ไปรบกวนเขามาก ไม่ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว แต่เมื่อได้คุยกันก็จะถามในเรื่องสุขภาพก่อน ใช้ความรู้สึกของเราจับสังเกตจากน้ำเสียง ว่าช่วงเวลาไหนเขาน่าจะต้องการเรา หรือเวลาไหนเขาอยากมีพื้นที่ส่วนตัว คนเป็นพ่อห่วงลูกตลอดเวลา ยังเห็นเขาเป็นเด็กเสมอ แต่ก็ต้องคิดว่าเขาเองก็โตแล้ว ดูแลตัวเองได้ เราก็ต้องปล่อยอิสระให้เขา ถึงเวลาที่เขาต้องการเรา เขาจะกลับมาหาเราแน่นอน

“พ่อก็เคยเป็น เคยน้อยใจเขาที่เขาหายไปเลย แต่ตอนนี้เราเข้าใจกันมากขึ้น เขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความเป็นผู้ใหญ่ของเขาสามารถซัพพอร์ตคนอื่นในสังคมได้ ทุกคนต้องมีวิถีของตัวเอง เราก็ต้องปล่อยอิสระให้เขา ให้กำลังเขา เอาความน้อยใจ ความคิดถึงเปลี่ยนเป็นความคิดบวก เข้าใจเขาให้มากขึ้น” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว./ 

#สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย(สภท.58ปี)
สนับสนุนโดย
 รายงานข่าว

โพสต์ข่าวแนะนำ

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

วันที่ 25 เมษายน 2567 กลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชน และชมรมผู้ผู้สูงอายุโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดกิจกรรมร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ ร่วมทำบุญถ...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ