วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์อินไซด์ทีวี

Scoop พิเศษ Covid 19 
“รพ. สนาม มรส. รองรับผู้ป่วย Covid 19 พร้อมยื่นมือบริการชุมชนท้องถิ่น เคียงข้างแม้ในภาวะวิกฤต”
           มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ให้ความ
ร่วมมือจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเปิดพื้นที่ใต้หอประชุมวชิราลงกรณ เป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 300 เตียง พร้อมร่วมระดมและจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพักรักษาตัวของผู้ป่วย แม้เกิดภาวะวิกฤตแต่มหาวิทยาลัยพร้อมเดินเคียงข้างชุมชนท้องถิ่น
          มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้รับการประสานขอความร่วมมือจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ให้ความช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด 19 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ใต้หอประชุมวชิราลงกรณเป็นโรงพยาบาลสนาม เพราะเป็นพื้นที่กว้างรองรับจำนวนเตียงได้ 300 เตียง เป็นพื้นที่โล่งมีอากาศถ่ายเท พื้นที่แยกผู้ป่วยชาย-หญิง มีห้องน้ำ-ห้องส้วมภายในอาคาร มีพื้นที่ที่สามารถปรับเป็น Work Station สำหรับบุคลากรทางการแพทย์แยกกับผู้ป่วยกับเพื่อป้องกันการติดเชื้อ มีพื้นที่การจราจรที่แยกเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลสนามออกจากบุคคลทั่วไป ทั้งยังสามารถเพิ่มจำนวนเตียงหากมีผู้ป่วยเพิ่มเติมได้อีก 250 เตียง ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยแบบเต็มพิกัดได้ถึง 550 เตียง จัดว่าเป็นโรงพยาบาลสนามที่ใหญ่ที่สุดของ จ.สุราษฎร์ธานี            
ด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏ          สุราษฎร์ธานีได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยดำเนินการ ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ร่วมกันระดมทำความสะอาดพื้นที่เพื่อเป็นโรงพยาบาลสนาม และได้รับการสนับสนุนเตียงจากวิทยาลัยปกครอง จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 100 เตียง เตียงจากหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัย จำนวน 100 เตียง และเตียงกระดาษจากบริษัท SCG จำนวน 100 เตียง เป็นการเบื้องต้น และได้รับการสนับสนุนมุ้งสนามจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตู้ลิ้นชักใส่ของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี รวมทั้งผ้าห่มจำนวน 100 ผืน จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนรัชประภา จ.สุราษฎร์ธานี
2. กำหนดพื้นที่การเข้า-ออกของผู้ไม่เกี่ยวข้อง รอบหอประชุมวชิราลงกรณ โดยมีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สุราษฎร์ธานี กับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเฝ้าดูแลตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้มีการกำหนดประตูเข้า-ออกสำหรับผู้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลสนามไว้ 1 ประตู เพื่อแยกออกจากบุคคลทั่วไปที่มาใช้บริการของมหาวิทยาลัย
3. การจัดการขยะของผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ได้มีการขอความร่วมมือจาก ผู้ติดเชื้อให้รับผิดชอบขยะของตนเองรวบรวมใส่ถุงแล้วนำไปทิ้งลงถังขยะของส่วนกลาง จากนั้นจะมีผู้ดำเนินการจัดเก็บขยะของส่วนกลางวันละ 1 รอบ เพื่อนำไปเผา ดำเนินการโดยสำนักงานสาธารณสุข           จ.สุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
4. ด้านสาธารณูปโภค มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงห้องน้ำให้สามารถอาบน้ำ พร้อมทั้งดูแลในเรื่องไฟฟ้า-ประปาให้พร้อมใช้อยู่เสมอ 
5. ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โทรทัศน์ อุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์และระบบไฟฟ้า กล้องวงจรปิด รถไฟฟ้าสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ตู้แช่แข็งอาหารสำเร็จรูป ไมโครเวฟ เฟอร์นิเจอร์สำหรับ Work Station ของทีมแพทย์และคณะ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุน ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถกระจายสัญญาณจากบริษัท TRUE Corporation จำกัด  
6. ด้านอาหารและน้ำดื่ม ดำเนินการโดยโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โดยได้รับการสนับสนุนจาก ผู้มีจิตศรัทธาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมสนับสนุนน้ำดื่มตราราชพฤกษ์ที่ผลิตเอง สนับสนุนเครื่องดื่มประเภทชงบริการตนเองในทุกวัน 
7. ด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้ได้รับเชื้อ มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการใช้พื้นที่ที่สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการนำ Back Drop แสดงความยินดีกับบัณฑิตที่ใช้เมื่องานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมากั้นพื้นที่แยกผู้ได้รับเชื้อชาย-หญิง และนำต้นไม้หลากสีมาประดับตกแต่งเพื่อให้เข้ากับพื้นของโรงพยาบาลสนามที่เป็นสีเขียว-ฟ้าอยู่แล้ว ทั้งนี้ทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานียังได้จัดกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้ติดเชื้อในทุกวัน
8. การดูแลรับรองบุคลากรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สนับสนุนห้องพักอาศัยที่มีเตียงนอน ห้องน้ำ สัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยปกครอง จ.สุราษฎร์ธานีในด้านการรับการสนับสนุนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีนั้น มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมสนับสนุนและบริจาคสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง 
 สำหรับการพักรักษาตัวของผู้ป่วยโรคโควิด 19 ณมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ติดเชื้อที่ได้รับการส่งตัวมาจากทุกพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อกักตัวรอดูอาการซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการดีขึ้นรอการกลับบ้าน และเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่ปรากฏอาการมากนัก
 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยแห่งการรับใช้ชุมชนท้องถิ่น พร้อมจะอยู่เคียงข้างแม้เกิดภาวะวิกฤต เราจะยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือ นำสรรพกำลังร่วมแรงร่วมใจเข้าสู้ทุกสถานการณ์
เครดิตภาพข่าว/เรียบเรียง คุณกนกรัตน์ ศรียาภัย สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
(สถานการณ์ฉุกเฉินสถานที่รักษาผู้ป่วย ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19)
ว่าที่ร้อยตรี บุญธิญา  คม หัวหน้าผู้สื่อข่าวส่วนกลาง รายงาน 

โพสต์ข่าวแนะนำ

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

17 กรกฎาคม 2567  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการวิจัยแก่บุคลากร ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17 - 19 กรกฎาค...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ