วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์



  
คัมภีร์ พระเครื่อง
 


หลังกาบหมาก


ทีเด็ดเคล็ดลับ...บางข้อ ที่บรรดาเซียนใหญ่ กระซิบสอนเซียนน้อยในสมัยหนึ่ง พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ แท้มาตรฐาน...นั้น องค์พระซึ่งอยู่กลางเส้นซุ้มโค้ง...ต้องเอน...เอียง ออกไปทางซ้าย (ซ้ายองค์พระ ขวามือเราถ้าผิดไปจากนี้ เป็นพระเก๊และบางคำแนะนำ...เส้นซุ้มพิมพ์ใหญ่ ต้องนูนหนาเขื่องเหมือนหวายผ่า...ถ้าเส้นซุ้มเล็กเรียวบาง...ท่านว่าไม่ดี

ที่จริงก็เป็นคำสอนที่ดี...ไม่น่าจะมาว่ากัน เพราะนั่นเป็นลักษณะของพระสมเด็จแท้ บางองค์ ข้อเสียมีว่า ถ้ายึดหลักนี้...จะพลาดพระแท้ไปมากมายหลายองค์


กรณีเส้นซุ้มและองค์พระเอียงซ้าย...มาจากพระส่วนใหญ่ ตัดขอบตามแนวเส้น “กรอบ” ที่เรียก “กรอบกระจก” และเส้นกรอบกระจกด้านซ้าย...สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่มาตรฐานหลายพิมพ์ ช่างแกะเริ่มจากมุมบนลงมาจรดเส้นซุ้มซ้าย หายไปบริเวณกลางถึงปลายลำพระกร

ความจริงมีว่า สมเด็จพิมพ์ใหญ่หลายองค์ ตัดตรงตามเส้นกรอบ จึงออกมาให้เห็นเป็นเอียงซ้าย แต่ก็มีไม่น้อยองค์ ที่ตัดทำให้เห็นพระและซุ้มตั้งตรง และน้อยองค์ ที่ตัดกรอบให้เห็น เป็นเอียงขวา

ดูตัวอย่าง สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์...เริ่มที่แม่พิมพ์ องค์นี้เส้นซุ้มและองค์พระเอียงขวา และบังเอิญอีกเส้นซุ้มพิมพ์นี้ค่อนไปทางเล็กเรียวบาง...ไม่นูนหนาเหมือนหวายผ่า...แต่ก็ต้องรู้ว่า นี่คืออีกพิมพ์ใหญ่มาตรฐาน

ทั้งกรณีเอียงขวา และเส้นซุ้มเล็กบาง... จึงไม่ใช่ข้อ...ชี้ขาดว่าเป็นพระที่ “ผิดพิมพ์” หาภาพพระแท้ในวงการเทียบเคียงได้หลายองค์

ตัวชี้วัดพระแท้ข้อต่อมาก็คือเนื้อหา...องค์นี้ผิวและเนื้อละเอียด สีเหลืองคล้ำ จากฝ้ารักที่หลุดลอกออกไปเกือบหมดเหลือให้เห็นเป็นแผ่นหนา ระหว่างฐานชั้นสองและสาม ก้อนขาว เม็ดแดง กากดำ...ค่อยๆส่องก็เจอ ที่คือมวลสารหลัก...ที่สมเด็จวัดระฆังแท้ควรมี

ข้อเด่นเป็นพิเศษขององค์นี้อยู่ที่ด้านหลัง เห็นแนวร่อง ที่เรียก “กาบหมาก” นี่คือหลังที่ครูตรียัมปวาย ใช้คำว่า “ต้องโฉลก” และ “หาดูยาก” เมื่อได้เห็นกันแล้ว ก็ควรดู ดู และดู ให้คุ้นตาเข้าไว้


พระสมเด็จวัดระฆังที่ซื้อขายกันแพงๆ ตอนนี้ มีแต่เนื้อขาวอมเหลืองอ่อน...หาองค์ที่หลังเข้าโฉลกได้ยากเต็มที

หลังกาบหมากเก๊ตอนนี้ออกมาเกลื่อนตา ใกล้เคียงของแท้มาก ก็ต้องระวังให้มากอีกเหมือนกัน

แต่หลังกาบหมากสมเด็จวัดระฆังแท้...ยังประกอบด้วยคุณสมบัติ อีกหลายประการ ในหลุมร่องลึก ยังดูดซับชิ้นรักหนาและฝ้ารักบางๆ เอาไว้ น้ำหนักของสีเข้ม และจางแตกต่างกันไป...นี่คือธรรมชาติหลังพระแท้ที่ต้องจำ

ยังไม่รวมขอบมุมทั้งสี่ด้าน ที่ถูกเกรากร่อนไปตามธรรมชาติ ของพระที่ผ่านการสัมผัสจับต้อง...ไม่มีร่องรอยของการขูด ขัด ฝน แต่ง ด้วยของมีคม


ธรรมชาติของผิวและเนื้อประการนี้ “ตรียัมปวาย” พรรณนาไว้ในหัวข้อ “โผฏฐัพสัมผัส” ได้แก่ “การลูบสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ” ว่า

สำหรับเนื้อนุ่มที่มีผิวมัน เพราะผ่านการใช้มามากพอสมควร หรือเนื้อที่ผ่านการลงรักเก่าน้ำเกลี้ยงมาก่อน แต่บริเวณที่รักเก่าล่อนออกแล้ว ไม่ปรากฏฝ้านวลลักษณะแป้งโรยพิมพ์ และทั้งไม่ปรากฏการแตกลายงา ซึ่งหมายความว่าเป็นเนื้อนุ่มจัด และยังมีเชื้อน้ำมันตังอิ๊วหรือน้ำมันจันทน์เหลือค้างอยู่ในเนื้อบ้าง

เนื้อที่นุ่มจัดทั้งสองลักษณะนี้ ถ้าใช้ปลายนิ้วมือที่สะอาดปราศจากเหงื่อ ลูบสัมผัสเบาๆ จะสามารถสัมผัสความนุ่มของผิวเนื้อได้ชัดเจน


นี่คืออีกตัวอย่างของประสบการณ์ “ชั้นครู” ที่ต้องค่อยๆเรียนรู้ และค่อยๆทำความเข้าใจ...ด้วยมือและสายตาตัวเอง.


สนับสนุนโดย

                                          



รายงานข่าว
                                           

โพสต์ข่าวแนะนำ

จากเหนือ.. สู่อีสาน.. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยกทัพจัดผ้าห่มพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคลงพื้นที่บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยหนาวในถิ่นทุรกันดาร 22 จังหวัดภาคอีสาน

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์ จากเหนือ.. สู่อีสาน.. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยกทัพจัดผ้าห่มพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคลงพื้นที่บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภั...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ

ข่าวดังรายสัปดาห์ HOT NEWS